NIA ร่วมกับ TCELS จับมือร่วมกับเครือข่ายย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) จัดอบรมออนไลน์ยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบยา วัคซีน COVID-19
NIA ร่วมกับ TCELS จับมือร่วมกับเครือข่ายย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) จัดอบรมออนไลน์ยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบยา วัคซีน COVID-19 และการทดสอบความเสี่ยงเครื่องมือแพทย์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ฝ่ายโปรแกรมบริหารเภสัชภัณฑ์และเซลล์บำบัด และ โปรแกรมเวชนครและสารสนเทศชีวการแพทย์ จับมือร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA), ภาควิชาเภสัชวิทยา วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าและเครือข่ายย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ศูนย์ไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมจัดอบรมออนไลน์ในการพัฒนาบุคลากรด้านชีววิทยาศาสตร์ เพื่อรองรับการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะรองรับการทดสอบความปลอดภัยยาและวัคซีน COVID-19 เครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากรและรองรับการยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ในประเทศ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตอกย้ำความเชื่อมั่นถึงระบบการทดสอบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ที่สามารถให้การรับรองผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพให้เป็นที่เชื่อมั่นจากทั่วโลก
ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “ในวันที่ 5, 20 และ 21 กรกฎาคม 2564 ทางทีมผู้จัดและเครือข่ายย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) ได้จัดอบรมในรูปแบบออนไลน์ขึ้นตามแนวชีวิตวีถีใหม่ (New Normal) จากการปรับตัวอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤตการระบาดของ COVID-19 โดยมีผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมอบรมจากทั่วประเทศกว่า 260 คน เป็นการจัดอบรมทางวิชาการแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาวิจัยระดับก่อนคลินิก เช่น แพทย์ เภสัชกร นักพิษวิทยา นักวิทยาศาสตร์ สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ดูแลการเลี้ยง และการใช้สัตว์ทดลอง นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจจากทั่วประเทศ ในหลักสูตรมาตรฐานห้องปฏิบัติการเครื่องมือแพทย์เพื่อขึ้นทะเบียน เรื่อง การวิเคราะห์ความเสี่ยงเครื่องมือแพทย์ตาม ISO 14971:2019 และ หลักสูตรการยกระดับความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ ตามหลักการ OECD GLP เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการยกระดับความสามารถห้องปฏิบัติการ OECD GLP และมาตรฐานการทดสอบเครื่องมือแพทย์ ISO 14971 :2019 ในประเทศให้สามารถทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ยา วัคซีน เครื่องมือแพทย์ เภสัชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ยาสัตว์ สารปรุงแต่งในอาหาร และอาหารสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง สารเคมีในอุตสาหกรรมหรือใช้ในครัวเรือน โดยเฉพาะการดำเนินการรองรับการทดสอบยา วัคซีน COVID-19 ซึ่งดำเนินการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ OECD และสมาชิกสมทบ 44 ประเทศทั่วโลก”
พ.อ.ผศ. ดุสิต สถาวร รองผู้อำนวยการ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า “โควิด-19 (COVID-19) เป็นเหตุระบาดที่ทั่วโลกต้องช่วยเหลือในการหาทางป้องกันและรักษา โดยที่ OECD Good Laboratory Practice เป็นกระบวนการที่จะรับรองว่ายา หรือวัคซีนเหล่านั้นมีมาตรฐานในการตรวจรับรอง และมีความเชื่อมั่นว่ามีความปลอดภัยตามกระบวนการของ OECD Good Laboratory Practice ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การผลิตบุคลากรและสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากทรัพยากรของประเทศมีอยู่ โดยประเทศไทยเอง มีกระบวนการที่ได้รับความชื่อถือจากทั่วโลก ตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อความมั่นคงทางยา วัคซีน มั่งคั่งจากธุรกิจสืบเนื่อง และมีความยั่งยืนส่งต่อไปยังลูกหลานตามนโยบาย Thailand 4.0 ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”
ด้าน ดร.กนิษฐ์ ตะปะสา ผู้อำนวยการกองวัสดุวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า “ในนามของ วศ. ขอขอบคุณเครือข่าย YMID และหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนให้เกิดการอบรมครั้งนี้ ทั้งนี้ วศ. และเครือข่ายย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) ให้ความสำคัญ กับสถานการณ์ของ COVID-19 ในปัจจุบัน และเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและห้องปฏิบัติการในประเทศ ให้เท่าทันต่อการเตรียมการค้นหาตัวยา วัคซีน เครื่องมือแพทย์ ให้บุคลากรมีความรู้และความเข้าใจในหลักการที่เป็นระบบคุณภาพ มีศักยภาพทั้งการวิจัยและการทดสอบวิจัยระดับก่อนคลินิกเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จากความร่วมมือในครั้งนี้ วศ., วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า, ทีเซลส์ (TCELS) และเครือข่ายย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) เครือข่ายงานทดสอบ วิจัย ระดับก่อนคลินิกทั่วประเทศ จะช่วยให้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสายงานการทดสอบในหลอดทอลอง ในเซลล์ ในสัตว์ทดลอง งานพิษวิทยา/พยาธิวิทยา ที่สามารถรองรับการทดสอบยา วัคซีน เครื่องมือแพทย์ จากทั่วโลกได้ และเป็นการขับเคลื่อนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ หรือ NQI เพื่อเพิ่มศักยภาพการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ และ พัฒนาบุคลากรเพื่อตอบสนองการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”
ที่มา: ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)