วิทยาลัยราชสุดา ม.มหิดล จัดประชุมวิชาการออนไลน์นานาชาติ “The 7th Ratchasuda Virtual International Conference on Disability 2021 on Inclusion Futures: Policies, Practices and Funding” เตรียมความพร้อมจัดการศึกษาแบบเรียนรวม

วิทยาลัยราชสุดา ม.มหิดล จัดประชุมวิชาการออนไลน์นานาชาติ “The 7th Ratchasuda Virtual International Conference on Disability 2021 on Inclusion Futures: Policies, Practices and Funding” เตรียมความพร้อมจัดการศึกษาแบบเรียนรวม

นับตั้งแต่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ (United Nations Convention on the Rights of Persons with Disabilities – UNCRPD) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 ก่อให้เกิดความพยายามที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนพิการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยมีหลักการสำคัญเพื่อทำให้สังคมเรียนรู้ที่จะยอมรับว่าคนพิการเป็นส่วนหนึ่งของความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ คนพิการควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต และการทำมาหาเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นที่มาของ Inclusive Education หรือการเรียนรวมตามนโยบายรัฐในปัจจุบัน

อาจารย์ แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิทยาลัยราชสุดามหาวิทยาลัยมหิดล มีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอน และสร้างความรู้ความเข้าใจในการให้ความช่วยเหลือคนพิการ หรือผู้ที่มีความต้องการพิเศษในระบบการศึกษาตามนโยบายเรียนรวมของรัฐ เพื่อให้ในที่สุดคนพิการและคนทั่วไปจะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมกันบนความแตกต่างหลากหลาย ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านจากระบบการจัดการศึกษาพิเศษ ไปสู่การศึกษาแบบเรียนรวมนั้นยังมีช่องว่างอยู่มาก  เนื่องจากคนพิการในแต่ละประเภทมีลักษณะความพิการและข้อจำกัดทางการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีการสร้างองค์ความรู้ที่เฉพาะเจาะจงตามความพิการ และเครื่องมือในเชิงปฏิบัติ รวมทั้งพัฒนาทักษะของผู้สอนให้รองรับการตอบสนองความต้องการพิเศษของคนพิการให้ได้ จึงจะทำให้คนพิการ สามารถเข้าถึงการศึกษาได้เท่าเทียมกับคนทั่วไปตามศักยภาพของแต่ละบุคคล

อาจารย์ แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ กล่าวต่อไปว่า แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการจัดการศึกษา โดยเฉพาะ

อย่างยิ่งในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่มีมาตรการป้องกันแบบsocial distancing เช่น การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นต้น แต่อาจเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงการเรียนรู้ของคนพิการ ในขณะที่คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าเทคโนโลยีน่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของคนพิการได้ เช่น คนพิการอาจขาด digital competency เข้าไม่ถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณ internet ในบ้านไม่มีพื้นที่ หรือผู้ช่วยการเรียนรู้ตลอดจนผู้สอนยังมีทักษะในการสอนแบบทางไกล และการจัดทำสื่อการสอนที่เหมาะสมไม่เพียงพอ เป็นต้น และเมื่อเป็นการจัดเรียนรวมแบบออนไลน์ หากให้เด็กหูหนวกและเด็กทั่วไปได้เรียนด้วยกัน โดยใช้สื่อที่ไม่มีล่ามภาษามือ หรือคำบรรยายใต้ภาพ เด็กหูหนวกจะไม่สามารถเข้าใจบทเรียนได้เหมือนเด็กทั่วไป เช่นเดียวกับเด็กที่ตาบอด หากไม่มีการบรรยาย หรืออธิบายด้วยการพูดประกอบ ก็ยากที่จะเข้าถึงบทเรียนนั้นๆ ได้เช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกันมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สอนซึ่งเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการเรียนการสอนจะต้องมีความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียนที่ครอบคลุมทั้งคนพิการและคนทั่วไปด้วย

ในวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 – 16.00 น. ที่จะถึงนี้ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดประชุมวิชาการออนไลน์นานาชาติ “The 7th Ratchasuda Virtual International Conference on Disability 2021 on Inclusion Futures: Policies, Practices and Funding” เพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมที่สมาชิกมีความแตกต่างหลากหลายสามารถอยู่และเรียนรู้ร่วมกันได้ ครอบคลุมเนื้อหาการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมในทุกระดับ ตั้งแต่ปฐมวัย ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา รวมถึงหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมทางสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันการพัฒนาและนำสู่การปฏิบัติของนโยบายรัฐ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาแบบเรียนรวมที่เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากนานาชาติ โดยได้รับเกียรติจาก Professor Chang Heng-Hao จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไทเป ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในไต้หวัน มาร่วมแสดงปาฐกถาในงานนี้ด้วย

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ตั้งแต่บัดนี้ – 21 มิถุนายน 2564 ทาง

https://www.eventpassinsight.co/…/registration/create/7r

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ