ม.มหิดล ให้ความเชื่อมั่น ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 บุคลากร และนักศึกษา พร้อมรับเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 และให้บริการประชาชน
ทุกชีวิตจำเป็นต้องมีการปรับตัว จึงจะสามารถอยู่รอดในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานี้ได้ เป็นหลักการเดียวกับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการปรับตัวสร้างภูมิต้านทาน ดังที่มหาวิทยาลัยมหิดลกำลังจัดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันCOVID-19 แก่ บุคลากร และนักศึกษา เพื่อให้พร้อมรับการเปิดภาคการศึกษาที่ 1/2564 วันที่ 9 สิงหาคม 2564 และให้บริการประชาชนอยู่ในขณะนี้
ซึ่งเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นผู้นำทางด้านสุขภาวะ คือ การจัดการให้ “ผู้บริการสาธารณะ” ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร คณาจารย์ หรือนักศึกษา ที่ต้องทำงานกับประชาชน ทั้งในด้านการบริการวิชาการ หรือบริการสาธารณสุข ไม่ไปเพิ่มความเสี่ยงแก่ผู้รับบริการ หรือครอบครัวผู้รับบริการ และสังคมโดยรวม ตลอดจนให้ผู้บริการสาธารณะสามารถกลับมาทำงานให้ได้เร็วที่สุด เพื่อขับเคลื่อนสังคมให้เดินหน้าต่อไปให้ได้เร็วที่สุด
ด้วยบทบาทของการเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่สร้างองค์ความรู้ของการพัฒนาและคุ้มครองเด็กและครอบครัวแก่สังคมไทยมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี โดยมี “ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยและอนุบาลสาธิต” เปรียบเสมือน “ห้องทดลอง” สำหรับสร้างสรรค์วิธีการพัฒนาเด็กอายุหนึ่งปีครึ่งขึ้นไปถึงอายุหกปีและถ่ายทอดความรู้ที่ได้สู่ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยและโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ สำหรับการระบาดของเชื้อไวรัสCOVID-19 ระลอกสามที่หนักหน่วงนี้ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การบริหารโดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (CSIP) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ใช้องค์ความรู้ในการค้นหาวิธีการจัดบริการศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย และโรงเรียนอนุบาลแบบ New Normal เพื่อสนองนโยบายรัฐที่ต้องการให้สถานศึกษาต่างๆ เดินหน้าพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อจากที่ได้ประกาศให้เปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยได้เปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่สามารถตัดสินใจได้ตามสถานการณ์ความรุนแรงของการระบาด แต่ต้องมีความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งในส่วนของ ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยและอนุบาลสาธิต สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา กำหนดเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยก่อนเปิดเรียนได้จัดให้ครู พี่เลี้ยง และเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 จำนวน 100%
ทุกชีวิตจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อพร้อมรับสถานการณ์อยู่เสมอ ด้วยการก้าวไปข้างหน้าบนวิถีใหม่ (New Normal) ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (CSIP) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้รายละเอียดว่า ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนใดที่เหมาะสำหรับเด็กปฐมวัย แต่มีแนวโน้มที่จะสามารถใช้วัคซีนป้องกัน COVID-19 บางประเภทที่เริ่มทำการวิจัย และมีรายงานผลว่าสามารถใช้กับเด็กตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป แต่ยังคงต้องรอผลการพิสูจน์ถึงความปลอดภัย ซึ่งทางสถาบันฯกำลังติดตามข้อมูลการวิจัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยในระหว่างนี้เด็กปฐมวัยจำเป็นต้องอาศัยภูมิต้านทานจากพ่อแม่ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เท่านั้น ซึ่งการที่ผู้ปกครองเลือกเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 นับเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบ ทั้งต่อตัวผู้ปกครองเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคมรอบข้างอีกด้วย ดังนั้น ทางสถาบันฯจึงได้รณรงค์ให้พ่อแม่ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีเด็กปฐมวัยอยู่ในความดูแล และยังมีความสัมพันธ์ไปมาหาสู่หรืออยู่บ้านเดียวกันกับปู่ย่าตายาย ให้เห็นถึงความสำคัญของการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ทุกยี่ห้อที่รัฐบาลนำมาใช้ ไม่กลัววัคซีน แต่ให้คำนึงถึงความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่ความปลอดภัยของครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยทางสถาบันฯ ได้จัดให้มีการพบปะพูดคุยกับผู้ปกครองทางออนไลน์อยู่เป็นระยะๆ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ และเตรียมพร้อมก่อนเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวและหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (CSIP) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต่อไปว่า แม้จะฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 แล้ว แต่การจัดบริการภายในห้องเรียน จะต้องยังคงเป็นแบบ New Normal ที่แบ่งกลุ่มเด็กแบบ small bubble จำนวนกลุ่มละไม่เกิน 10 คน ต่อผู้ให้บริการ 2 – 3 คน และให้แต่ละกลุ่มแยกกันทำกิจกรรมตามมาตรการรักษาระยะห่าง (group distancing) อย่างเข้มงวดตลอดวัน ตั้งแต่ช่วงเช้าที่พ่อแม่มาส่ง จนถึงช่วงเย็นที่พ่อแม่มารับ ดังนั้น หากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 เกิดขึ้น จะจำกัดอยู่เพียงแค่ภายในกลุ่ม 10 คนเท่านั้น ทั้งนี้ ครอบครัวของเด็กทั้ง 10 คนในกลุ่มจะต้องรู้จักกัน และเข้าใจกันก่อน จึงจะยอมรับความเสี่ยงร่วมกันได้
สำหรับครอบครัวที่ยังรู้สึกไม่สบายใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมหรือครอบครัวที่มีความเสี่ยง หรือเกิดเหตุความเสี่ยงจากคนใดคนหนึ่งภายในกลุ่มนั้น รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี(CSIP) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ทางสถาบันฯ จะจัดให้เด็กในกลุ่มเสี่ยงหยุดอยู่บ้านเรียนออนไลน์ทันที 14 วัน โดยจะคืนเงินค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่ครอบครัวต้องจ่าย นอกเหนือจากส่วนที่รัฐสนับสนุนใน”โครงการเรียนฟรี 15 ปี” โดยคิดคำนวณจากวันทำการ เพื่อสนับสนุนให้ทุกครอบครัวสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยง และจัดการดูแลลูกเองที่บ้านทันทีที่มีความเสี่ยง โดยจะได้รับความเป็นธรรม ทั้งในเรื่องของการชดเชยค่าใช้จ่าย และไม่ถูกทอดทิ้งจากระบบบริการที่ยังคงเดินหน้าต่อไป ทั้งนี้ ทางสถาบันฯ ได้ขยายผลผลักดันให้ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย และอนุบาล ทั้งของภาครัฐและเอกชน ให้ความสำคัญต่อเรื่องการให้ครอบครัวของเด็กได้รับการชดเชยค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายโรงเรียนไปแล้ว เพื่อความเป็นธรรม และเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดการลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดอีกด้วย
นอกจากนี้ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวยังได้ประสานกับ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดระบบเฝ้าระวังการแพร่ระบาดภายในกลุ่มเด็กๆ ที่มาอยู่ด้วยกัน โดยจะทำการสุ่มตรวจแบบกลุ่มเพื่อหาเชื้อไวรัส COVID-19 จากน้ำลาย และเฝ้าระวังทุก 3 สัปดาห์โดยครอบครัวไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแต่อย่างใด ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศต่อไปได้อีกด้วย
และตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2564 นี้เป็นต้นไป สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลจะเปิดโอกาสให้ครู และผู้ให้บริการศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยทั่วประเทศ ได้สมัครเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลักสูตรออนไลน์ “ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยและอนุบาล New Normal ระดับ 3 เพื่อรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ระลอก 3” ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแบบไลฟ์สดในช่วงเช้าของทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เปิดเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 เดือนเต็มโดยสามารถเข้าไปดูย้อนหลังได้วันต่อวัน และเลือกเข้าร่วมอภิปรายได้ตามความพร้อม ติดตามรายละเอียดการจัดอบรมออนไลน์ได้ที่ Facebook: NICFD Mahidol หรือhttps://www.facebook.com/NICFDMahidol และข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล