นวัตกรรมยับยั้งมะเร็ง  หุ่นยนต์ชีวภาพลำเลียงสารจากถั่งเช่า

นวัตกรรมยับยั้งมะเร็ง หุ่นยนต์ชีวภาพลำเลียงสารจากถั่งเช่า

นักวิจัยจุฬาฯ เผยความสำเร็จ Active targeting นวัตกรรมพลิกวงการแพทย์ ใช้หุ่นยนต์ชีวภาพนำส่งสารสกัดถั่งเช่ายับยั้งมะเร็ง มั่นใจถึงพิกัด ลดผลข้างเคียง

งานวิจัยหลายชิ้นจากทั่วโลกยืนยันแล้วว่า สาร “คอร์ไดเซปิน” (Cordycepin) ที่สกัดได้จากถั่งเช่า เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญที่ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ แต่ปัญหาก็คือลำไส้ของคนเราดูดซึมสารตัวนี้ได้น้อยมาก

อ.ดร.ธีรพงศ์ ยะทา อาจารย์ประจำหน่วยชีวเคมี ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ และ รศ.ดร. วรัญญู พูลเจริญ ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ทำการวิจัยเพื่อตอบโจทย์นี้ โดยการพึ่งระบบนำส่ง ที่ทำหน้าที่เสมือนหุ่นยนต์ที่จะนำพาสาร “คอร์ไดเซปิน” ไปยังมะเร็งเป้าหมายได้ตรงจุดมากขึ้น

สกัดสารยับยั้งมะเร็งจากถั่งเช่า
อ. ดร. ธีรพงศ์ อธิบายว่าการกินถั่งเช่าหรือสารสกัดถั่งเช่าอย่างที่มีขายและนิยมบริโภคในปัจจุบันอาจมีประโยชน์ในแง่การบำรุงร่างกายโดยทั่วไป แต่แทบไม่เห็นผลเลยในแง่การยับยั้งเซลล์มะเร็ง

“เราต้องสกัดสาร “คอร์ไดเซปิน” ในถั่งเช่าออกมา แล้วดูว่าจะนำเข้าไปยังบริเวณที่เกิดเนื้อเยื่อมะเร็งในร่างกายเราได้อย่างไร เนื่องจากลำไส้ดูดซึมคอร์ไดเซปินได้น้อยมาก ศูนย์นาโนเทคฯ จึงได้พัฒนาหุ่นยนต์ชีวภาพ ที่เรียกว่า “ระบบนำส่งสารด้วยอนุภาคนาโน” เป็นเสมือน delivery system ทำหน้าที่นำส่งสารสกัดไปยังตำแหน่งมะเร็งที่เราต้องการให้สารสกัดออกฤทธิ์”

หุ่นยนต์ชีวภาพนำส่งสารสกัดรักษามะเร็ง

ระบบนำส่งนาโนเทคโนโลยีตอบโจทย์เรื่องการรักษามะเร็ง ด้วยการพาตัวยาไปถึงเป้าหมายและช่วยให้ร่างกายดูดซึมคอร์ไดเซปินดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ระบบนำส่งยังลดโอกาสที่ตัวยาจะตกค้างและเกิดเป็นพิษในร่างกายด้วย

“ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าสารตัวใดในถั่งเช่าที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือเป็นพิษอันตรายต่อร่างกาย เช่น กระเพาะอาหาร ตับ ไต ดังนั้น ถ้าเรามีตัวนำส่งมาห่อหุ้มเฉพาะสารสำคัญเพื่อให้เข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น ก็จะช่วยให้ลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะพิษที่อาจเกิดกับตับ”

อ. ดร.ธีรพงศ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “การปลดปล่อยแบบควบคุมได้” ของอนุภาคนาโนจะสามารถลดความเป็นพิษที่อาจเกิดขึ้นกับตับหรือไตได้

หุ่นยนต์ชีวภาพ นวัตกรรมการแพทย์เพื่อการรักษาที่ตรงจุด

งานวิจัย “หุ่นยนต์ชีวภาพ” ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ อ. ดร.ธีรพงศ์ กล่าว

“ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษากระบวนการ “active targeting” คือการใช้โมเลกุลชี้เป้านำส่งสารสำคัญไปยังจุดหมายอวัยวะที่ต้องการโดยแม่นยำที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากนวัตกรรมหุ่นยนต์แห่งอนาคตตัวนี้ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อรักษาโรคมะเร็งเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้ห่อหุ้มตัวยาและนำส่งสารให้ถึงบริเวณที่ต้องการรักษา”

ที่ผ่านมา คณะนักวิจัยได้เริ่มทดลองใช้หุ่นยนต์ชีวภาพขนส่งสารสำคัญ ทั้งยาและวัคซีน ซึ่งสารสำคัญต่างชนิดและช่องทางการให้ ก็ต้องการรายละเอียดของหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบแตกต่างกันออกไป จึงต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ นอกจากนี้ ปัจจุบันก็ได้มีการนำหุ่นยนต์ชีวภาพไปปรับใช้ในการรักษาสัตว์ด้วย อ.ดร.ธีรพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ