มช. คว้ามาตรฐานระบบการจัดการความรู้ ISO 30401: 2018 แห่งแรกของประเทศไทย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการความรู้ ISO 30401: 2018 Knowledge Management Systems หลักสูตรการจัดการความรู้และนวัตกรรม (ระดับบัณฑิตศึกษา) จากวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินงานตามกรอบแนวทางในการกำหนด นโยบาย กระบวนการทำงาน ระเบียบวิธีปฏิบัติงาน รวมถึงการจัดข้อมูลและความรู้ การตรวจสอบ การประเมินและการปรับปรุง การจัดการความรู้ขององค์กรที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพด้านการเรียนรู้และพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรทุกระดับให้สามารถปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบได้บรรลุเป้าหมาย
การนำมาตรฐานของ ISO 30401:2018 นั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นแนวทางสำหรับองค์กรที่ต้องการจัดการความรู้ให้เป็นระบบ สามารถสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับองค์กร โดยอาศัยเครื่องมือการจัดการความรู้มาเป็นพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบรับรองประเมินผล โดยผ่านหน่วยงานตรวจสอบภายในและภายนอกที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งประโยชน์ที่รับจากการจากการนำมาตรฐานนี้ไปใช้คือ ทำให้การจัดการองค์ความรู้เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น สนับสนุนเป้าหมายองค์กร ทำให้ง่ายต่อการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจในบุคลากรทุกระดับ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วทั้งองค์กร ซึ่งจากการทุ่มเทตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็ม ที่ทางผู้บริหารวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติพงษ์ ยอดมงคล อดีตคณบดีและประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ อาจารย์ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ และอาจารย์ ดร.อัจฉรา คำอักษร เลขานุการ คณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ ได้พัฒนาหลักสูตรฯ ตามหลักการระบบการจัดการความรู้ จนได้รับการตรวจประเมินและผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 30401: 2018 Knowledge Management Systems จาก British Standard Institute (BSI) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย
หลักสูตรการจัดการความรู้และนวัตกรรม เป็นหลักสูตรที่เน้นมุมมองการจัดการความรู้เป็นหลัก ในการประยุกต์ใช้วิชาการทางด้านการจัดการความรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ โดยจุดเด่นของหลักสูตรคือการต่อยอดองค์ความรู้ในระดับสากลผนวกกับความคิดสร้างสรรค์มา ผสานความรู้และประสบการณ์จากศาสตร์ตามสายงานของผู้เรียน ร่วมกับศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการร่วมกับความรู้ทางด้านดิจิทัล สร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่หรือนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามมาตรฐานของ ISO เพื่อยกระดับด้านการจัดการความรู้และการบริหารงานการพัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งเป็นกลไกสนับสนุนที่เป็นเลิศในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ที่มา: พิตอน คอมมิวนิเคชั่น