ม.พะเยา นำร่อง ติดตั้งหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด เครื่องที่ 3 ของประเทศ
จากปัญหาสภาพอากาศ และฝุ่น PM 2.5ในพื้นที่ภาคเหนือที่มีระดับสูงเกินมาตรฐานซึ่งจะเกิดในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของนิสิต บุคลากร และประชาชน ที่เข้ามาใช้บริการและใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยพะเยาโดยสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา และหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านวิศวศึกษาโดยมีชุมชนเป็นฐาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสาธารณะสุขศาสตร์ ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & lnnovation for Sustainbility Center-RISC) โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDE) ด้านความร่วมมือทดสอบต้นแบบหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier tower) ภายใต้ชื่อโครงการ “ฟ้าใส รุ่นที่ ๒”ซึ่งเป็นหอฟอกอากาศกลางแจ้งผ่านระบบการปล่อยละอองน้ำ เพื่อดักจับฝุ่นขนาด ๒.๕ ไมครอน และสามารถฟอกอากาศได้เป็นระยะรัศมี ๒๐ เมตร จากหอฟอกอากาศ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รศ.ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ ได้มอบหมายให้ ผู้ช่วยอธิการบดี ดร.ชัชวาล วงค์ชัย ดูแลการติดตั้งหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier tower) ณ บริเวณลานสนามกีฬากลางแจ้ง มหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยได้ทำการลงพื้นที่ พร้อมด้วยทีมงานนักวิจัย เพื่อทดสอบการติดตั้ง และตรวจสอบความเรียบร้อยของหอฟอกอากาศ ผ่านการร่วมมือของนักวิจัยมหาวิทยาลัยพะเยา คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้า ผศ.ดร. ธนาทิพย์ จันทร์คง และ คณะสาธารณสุขศาสตร์ หลักสูตรอนามัยสิ่งแวดล้อม ดร.ปฎิพัทธ์ วงค์เรืองโดยขนาดหอฟอกอากาศนี้มีขนาด ๒.๔*๒.๔*๕.๑ เมตร โดยหลักการทำงานระบบการกำจัดฝุ่น Jet Venturi Scrubber จะเป็นการพ่นละอองน้ำขนาดเล็กเพื่อดักฝุ่น และมีระบบดูดอากาศจากด้านบนตัวเครื่องผ่านระบบการจัดการฝุ่นและฆ่าเชื้อ และพ่นอากาศที่บริสุทธิ์ได้ในรัศมี ๒๐ ถึง ๒๕ เมตร โดยตัวเครื่องได้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อน โดยการติดตั้งหอฟอกอากาศเครื่องแรก ในปี ๒๕๖๓ ในโครงการ 101 True Digital Park กรุงเทพมหานคร เครื่องที่ ๒ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มักกะสัน และเครื่องที่ ๓ ณ มหาวิทยาลัยพะเยา
การติดตั้งหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier tower) ในครั้งนี้เพื่อเป็นการฟอกอากาศในสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และการวิจัยเป็นแหล่งศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบต่อพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของประชาชนพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อการดูและสุขภาพในสภาวะฝุ่นควัน ทั้งสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการรับมือในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ในอนาคต โดยผ่านการร่วมมือของสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านวิศวศึกษาโดยมีชุมชนเป็นฐาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ หน่วยวิจัยมลพิษบรรยากาศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมหาวิทยาลัยพะเยา และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
ที่มา: มหาวิทยาลัยพะเยา