“ม.ศรีปทุม” มุ่งปั้นบัณฑิตพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม
เมื่อ (3 พ.ค.64) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้รับเชิญจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมเป็นวิทยากรในการอภิปราย เรื่องนโยบายการสนับสนุนโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.สยาม เจริญเสียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายภาคภูมิ สกลภาพ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินการที่ดี (Best Practice) ของโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ มีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 1 พันคน ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ 1 สป.อว. ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ ผ่านระบบออนไลน์ โปรแกรม Zoom Meeting
มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินการหลักสูตรผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ทั้งหลักสูตรประเภทปริญญา (Degree) และหลักสูตรประเภทประกาศนียบัตร (Non Degree) โดยมีการดำเนินการรูปแบบที่สอดรับและตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญ มีความพร้อมในการปฏิบัติงานเมื่อสำเร็จการศึกษาออกไป และมีนโยบายให้นักศึกษาได้เรียนกับตัวจริง ประสบการณ์จริง เน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติกับผู้ที่มีประสบการณ์จริงจากสถานประกอบการทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และชุมชน พร้อมทั้งได้ออกไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ เพื่อให้นักศึกษาได้รับประการณ์ตรงทั้งทักษะในวิชาชีพและทักษะการใช้ชีวิต (Hard skill and Soft skill)
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้นักศึกษามีประสบการณ์การทำงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินการเรื่องสหกิจศึกษา ตั้งแต่ปี 2546 และพัฒนาความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยมา เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์จริงเกิดความเชี่ยวชาญ ตอบโจทย์ความต้องการในภาคอุตสาหกรรม เมื่อรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ซึ่งตรงกับทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจึงได้นำนโยบายนี้มาต่อยอดในการขับเคลื่อนการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ประกอบกับมหาวิทยาลัยมีพันธมิตรจากภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก กว่าสองพันบริษัท มาร่วมในกระบวนการผลิตบัณฑิตตลอดช่วงเวลาที่สิบกว่าปีที่เน้นเรื่องนี้ จึงทำให้การดำเนินผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่มีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนตรงตามเป้าหมายที่วางไว้
ที่มา: มหาวิทยาลัยศรีปทุม