ม.มหิดล ชี้มหาวิทยาลัยคือ แหล่งสำคัญในการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาจากผลงานวิจัย ต้องตอบโจทย์ความต้องการของสังคม พัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ และทำให้เกิดความยั่งยืน

ม.มหิดล ชี้มหาวิทยาลัยคือ แหล่งสำคัญในการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาจากผลงานวิจัย ต้องตอบโจทย์ความต้องการของสังคม พัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ และทำให้เกิดความยั่งยืน

วันที่ 26 เมษายน ของทุกปี องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization – WIPO) ขององค์การสหประชาชาติ ได้จัดตั้งเป็น “วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก” นับตั้งแต่ปี1970 เป็นต้นมา

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า ทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่เรื่องไกลตัว หลายผลิตภัณฑ์ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนับเป็นทรัพย์สินทางปัญญา จึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างถูกต้องและเป็นธรรม เนื่องจากเกิดจากการลงทุนทางความคิดของเจ้าของผลงาน ซึ่งปัจจุบัน WIPO และองค์การด้านทรัพย์สินทางปัญญาทั่วโลกยังคงต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจให้คนเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว

มหาวิทยาลัย คือ แหล่งสำคัญในการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา โดยเป็นแหล่งรวมของนักวิจัย นักสร้างสรรค์ ผู้สร้างองค์ความรู้   และพร้อมด้วยห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม

ด้วยปณิธานแห่งการเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดลผลงานวิจัยและนวัตกรรมทั้งหมดของมหาวิทยาลัยมหิดล จึงมุ่งทำเพื่อประโยชน์ และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม ซึ่งกลไกสำคัญของการทำนวัตกรรม จะต้องมีการวางแผนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ หรือมองให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของการสร้างสรรค์ผลงาน

นอกจากนี้ หัวใจสำคัญของการทำนวัตกรรม คือ “Open Innovation” ที่ต้องประกอบด้วยความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย เพื่อการทำให้นวัตกรรมบรรลุปณิธานแห่งการเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดตั้ง สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ขึ้นเพื่อคอยให้คำปรึกษาทางการวางแผนการตลาดอบรมสตาร์ทอัพ จับคู่ทางธุรกิจ ระหว่างผู้สร้างสรรค์ผลงาน และภาคธุรกิจ ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกด้านการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการคุ้มครองและนำไปใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมอย่างครบวงจร

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดลมีผลงานที่ยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาเกือบ3,500 เรื่อง โดยได้รับการจดทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้วประมาณ 3,200 เรื่อง ที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลวิจัยออนไลน์ “MU-RIMS” (Mahidol University Research and Innovation Management System)

“หากใช้ปัญญามาทำให้มีมูลค่าเป็นรายได้ ก็จะสามารถทำประโยชน์ได้เพียงส่วนหนึ่ง แต่หากสามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ และทำให้เกิดความยั่งยืนได้ ก็จะสามารถออกดอกออกผลต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด” ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ