“เก่งไม่เก่ง ไม่สำคัญ เพราะเด็กแต่ละคนมีศักยภาพในตนเอง ” ผศ.ดร. วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี ม.ศรีปทุม
แม้โควิด-19 ยังไม่จบแต่การศึกษาต้องเดินหน้าต่อไป และการเรียนที่เน้นความคิดเชิงสร้างสรรค์ มากกว่าการเรียนรู้ในห้องเรียน ประดิษฐ์ความคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมช่องทางการเรียนที่มีหลักสูตรต่อยอดได้ไกลถึงต่างประเทศ เหมาะกับนักศึกษาที่อยากเป็นผู้ประกอบการหรือบุคลากรที่มีความรู้และทักษะที่หลากหลาย ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ
วันนี้จึงพามาทำความรู้จักกับคณะสหวิทยาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในมุมมองของ ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี และคณบดีคณะสหวิทยาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม กันครับ!!
มาพบหลักสูตรเฉพาะตัว ที่ให้ทุกอย่างตรงความต้องการของคนแต่ละคน!
ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี และคณะบดีคณะสหวิทยาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (SITI) มหาวิทยาลัยศรีปทุม หรือ SPU กล่าวว่า “เก่งไม่เก่ง ไม่สำคัญ เพราะเด็กแต่ละคนมีศักยภาพในตนเอง” ผมมีความคิดที่ว่า เด็กแต่ละคนมีความถนัดต่างกัน สิ่งที่คณะสหวิทยาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแตกต่างอย่างชัดเจน คือเราเป็นหลักสูตร Personalized Education หรือการเรียนที่จัดให้เฉพาะตัวกับผู้เรียน เด็กๆ สามารถเลือกเรียนในสิ่งที่เขาต้องการ ตามความถนัดและความชอบของแต่ละคน วิชาเรียนสามารถเลือกได้จากทุกคณะในมหาวิทยาลัยศรีปทุม และวิชาจากสถาบันคู่สัญญาต่างประเทศอีกด้วย เป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย ที่เน้นให้เกิดการเรียนรู้ในหลากหลายศาสตร์ ทั้ง Hard Skills และ Soft Skills โดยมีโค้ชคอยดูแลและให้คำปรึกษาเป็นรายคน ไม่ได้ใช้รูปแบบอาจารย์เดิมๆ อีกแล้ว
เรียนเน้นสร้างสรรค์ + ลงมือทำ
ผศ.ดร.วิรัช : การเรียนการสอนของคณะเราสนุกไม่น่าเบื่อ เพราะเป็นแบบบูรณาการ ใช้กิจกรรมและโครงงานเป็นหลัก ไม่เน้นการสอนแบบบรรยาย และไม่เน้นการสอบแบบเดิม ดังนั้นเวลาประเมิน เราจึงใช้ผลจากการทำกิจกรรมต่างๆ และการนำเสนอโครงงาน มาให้คะแนน และใช้ระบบการ Coaching เพื่อดูแล ช่วยเหลือและให้คำปรึกษา จากทีมโค้ช หรืออาจารย์อำนวยการเรียนรู้ เพื่อต่อยอดและพัฒนาความรู้ ความสามารถของเด็กๆ ให้สอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของเขา จนเด็กแต่ละคนไปถึงเป้าหมายที่ตนเองตั้งใจ รวมทั้งยังเน้นให้มีการเรียนรู้จากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์จริง มาร่วมให้ความรู้และพัฒนาผลงานของเด็กๆ ด้วยครับ
เก่งหรือไม่เก่ง ไม่สำคัญ เราโค้ชให้ได้
ผศ.ดร.วิรัช : ต้องบอกก่อนว่า เรียนที่นี่ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กที่เรียนเก่งเลยครับ เพราะสิ่งสำคัญของหลักสูตรนี้ คือการพัฒนาศักยภาพ ความถนัด และความชอบของเด็กๆ แต่ละคนมากกว่า เราใช้โค้ชในการดูแลเด็กเป็นรายคน เน้นมองที่ผลงานการทำกิจกรรมและโครงงานต่างๆ เพราะเราเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง และสามารถเรียนรู้ พัฒนาต่อยอดได้ การที่เด็กๆ ได้เรียนในสิ่งที่ชอบ จะเป็นการดึงศักยภาพสูงสุดในตัวเขาออกมา ทำให้เขาประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้
เน้นการเป็นที่ 1 ในแบบตนเอง
ผศ.ดร.วิรัช : ดังนั้นคณะนี้จึงเป็นพื้นที่สำหรับคนที่อยากเป็นหนึ่งในแบบของตัวเอง อยากสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นเองได้ เพื่อพร้อมที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจ หากอยากประสบความสำเร็จในสิ่งที่ชอบ เปิดโอกาสการเรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัด พบการเรียนแบบใหม่ไม่เหมือนใคร ก็ต้องเรียนที่ คณะสหวิทยาการฯ แล้วครับ
เปิดแง่มุมความคิด แพสชั่นกับการทำงาน
ผศ.ดร.วิรัช : ในส่วนเรื่องการทำงานและองค์กร ผมไม่เคยหมดแพสชั่นในการทำงานครับ เพราะแพสชั่นในการทำงานนั้นเป็นเหมือนส่วนหนึ่งในชีวิต แต่ก็อาจมีล้าบ้างนานๆ ครั้ง แต่ก็จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ โดยผมมองว่าปัญหาต่างๆ มีทางแก้เสมอ ขอให้เราไม่ปิดกั้นตัวเอง ไม่ยึดติดกับตัวเองย่อมมีทางออกในที่สุด
ในองค์กรคนเก่ง ไม่เท่าคนที่มีทัศนคติที่ดี
ผศ.ดร.วิรัช : แน่นอนว่าแต่ละองค์กรต้องการบุคลากรที่มีความสามารถ และมีความขยันหมั่นเพียร แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีทัศนคติที่ดี เป็นคนที่เห็นว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เหมือนบ้านอีกหลังของเรา การมีทัศนคติที่ดีทำให้แม้เผชิญกับปัญหา เราก็จะสามารถผ่านไปได้ด้วยกัน นำพาให้ประสบความสำเร็จทั้งตัวเองและองค์กร ในทางตรงข้ามคนเก่งและขยัน แต่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อองค์กร คนแบบนี้จะไม่มีคุณค่าต่อองค์กร เพราะจะสร้างปัญหา เป็นภาระและสร้างความแตกแยกให้กับองค์กร
ทีมเวิร์ค ยังไงก็ทำให้เวิร์ค
ผศ.ดร.วิรัช : ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือเรื่องทีมที่ดีในองค์กร ยิ่งทีมดีเท่าไหร่ ยิ่งร่วมมือกันช่วยเหลือกัน จะเป็นการแบ่งปัน เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ เหมือนหนึ่งบวกหนึ่งที่มากกว่าสอง
ผู้บริหาร อารมณ์ดี
ผศ.ดร.วิรัช : ส่วนตัวผมเป็นคนไม่ค่อยโกรธใครเท่าไหร่ ยิ่งในเรื่องของการทำงาน ผมมองว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบทุกอย่าง แค่ทำให้ดีที่สุดจะดีกว่า
ทำงานแล้ว อย่าลืมใส่ใจดูแลตัวเอง
ผศ.ดร.วิรัช : หากเกิดความเครียดจากการทำงาน ผมมักใช้เวลาผ่อนคลายด้วยการอยู่กับครอบครัว เล่นกับลูกๆ หรือเล่นกีฬา ทำสมาธิ แม้ผมอาจไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องการดูแลสุขภาพ แต่ก็แนะนำว่าการดูแลร่างกายเป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ตอนนี้จึงพยายามออกกำลังกายในช่วงที่พอจะมีเวลา ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเดินเร็วและวิ่งแบบเบาๆ ในเรื่องการทานอาหารก็จะใช้วิธี Intermittent Fasting หรือการควบคุมระยะเวลาที่ไม่ทานอาหารกับช่วงเวลาที่ทานอาหาร ซึ่งเท่าที่ทดลองมาระยะหนึ่งก็นับว่าได้ผลดีครับ
สมัครออนไลน์ คลิก : www.spu.ac.th/apply/quota64
ที่มา: มหาวิทยาลัยศรีปทุม