ผ่าวิกฤตโลก สะเต็มศึกษาทางรอดของมนุษย์ยุคหลังโควิด-19
ในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในสังคม การเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ รวมทั้งวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เราไม่คาดคิดอย่างโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในทุกๆ มิติไปทั่วโลก ประชาคมโลกและประเทศไทยเองต้องเตรียมการเผชิญหน้าเพื่อรับมือกับวิกฤตและความเปลี่ยนแปลงที่โลกเราต้องเผชิญในยุคหลังโควิด-19 นี้ด้วย เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความรู้ด้านสะเต็มศึกษาเป็นทักษะขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะในยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตและกอบกู้วิกฤตนี้ เช่น การคิดค้นวัคซีนป้องกันโรค การทำงานหรือการศึกษาผ่านออนไลน์ หรือการใช้โดรนและหุ่นยนต์ทดแทนแรงงานมนุษย์ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าการเตรียมพร้อมเยาวชนให้ได้รับโอกาสการเรียนรู้ทางด้านสะเต็มอย่างครอบคลุมทั่วทั้งประเทศถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเข้ามาสนับสนุนอย่างเร่งด่วน เพื่อให้พวกเขามีทักษะความสามารถตรงกับความต้องการของโลกแห่งการทำงานในอนาคต และพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงซึ่งอาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ UNILAB Foundation จึงได้ร่วมมือกับ องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Southeast Asian Ministers of Education Organization – SEAMEO และภาคีเครือข่ายด้านการจัดการศึกษา STEM ในการจัดงาน Integrated STEM Leadership Summit in Asia ครั้งที่ 2 รูปแบบออนไลน์ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีการเชิญผู้นำองค์กรและหน่วยงานด้านสะเต็มศึกษาระดับโลกจากนานาประเทศมาแสดงวิสัยทัศน์และสร้างกลุ่มตัวแทนผู้นำทางความคิดด้านสะเต็มศึกษาเพื่อเป็นตัวกลางระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสะเต็มศึกษาซึ่งเป็นทักษะสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด หนึ่งในองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนาการเรียนรู้สะเต็มศึกษาของเยาวชนไทยทั้งในและนอกห้องเรียนมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการอภิปรายและแสดงทรรศนะต่อความสำคัญของสะเต็มศึกษา ซึ่งเป็นทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 และเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นของในตลาดแรงงานแห่งอนาคตที่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษยชาติให้ดีขึ้นและรับมือกับทุกสถานการณ์ได้ดีกว่าในอดีตที่ผ่านมา
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แสดงทัศนะในเรื่องนี้ว่า “เชฟรอนเองเป็นบริษัทพลังงานที่มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกและพัฒนาอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยมาตั้งแต่เริ่มต้น นอกเหนือจากพันธกิจในด้านการจัดหาพลังงาน เรายังให้ความสำคัญกับเรื่องของการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขา สะเต็ม เข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมหลักต่างๆ ของประเทศ โดยเชฟรอนได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มา 6 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ต่อยอดและเสริมสร้างศักยภาพของพันธมิตรโครงการที่ประกอบไปด้วยองค์กรภาครัฐต่างๆ อันนำมาซึ่งการพัฒนาการเรียนรู้สะเต็มของเยาวชนให้มีความมั่นคงและยั่งยืน”
“และด้วยสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความท้าทายทางสังคมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลต่อตลาดแรงงานด้วยเช่นกัน เช่น การปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจหรืออุตสาหกรรมจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลและเครื่องจักรต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีความรู้ความสามารถทางด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่ยังขาดแคลนอยู่เมื่อเทียบกับนานาประเทศ จึงทำให้หลายองค์กรไม่สามารถค้นหาแรงงานที่ตรงกับความต้องการของแต่ละองค์กรได้ ดังนั้น เราจึงได้เดินหน้าพัฒนาด้านการศึกษาทางด้านสะเต็มอีกครั้งผ่านโครงการ Career Academies ที่เป็นโมเดลการเตรียมพร้อมด้านสะเต็มศึกษาล่าสุด ภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science โดยมุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการเข้าสู่อาชีพของเยาวชนที่เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ (Service Sector) ของกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในวิกฤตโควิด-19 เช่นนี้ อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในการคิดค้นวัคซีนสำหรับป้องกันโควิด-19 เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ รวมถึงด้านคอมพิวเตอร์และไอทีที่ในปัจจุบันการเรียนหรือแม้แต่การทำงานก็มีการปรับเปลี่ยนมาเป็น Work From Home ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ศึกษาเล่าเรียน หรือแม้แต่การประกอบอาชีพผ่านทางออนไลน์กันมากขึ้น ด้วยการอบรมพัฒนาทักษะด้านอาชีพในสายต่างๆ เหล่านี้ ด้วยองค์ความรู้ที่บูรณาการความรู้ในทักษะสะเต็มทั้ง 4 สาขา ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างทักษะจำเป็นอื่นๆ ในการทำงาน อาทิ ทักษะการสื่อสาร ภาษา และทักษะทางด้านไอที ซึ่งเป็นพื้นฐานของทุกอาชีพ เพื่อผลิตกำลังคนคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองให้ได้เร็วที่สุด” นายอาทิตย์ กล่าว
ส่วนทางด้าน ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ความรู้และความสามารถทางด้านสะเต็มนั้นเป็นสิ่งที่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วต่างให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่มั่นคงและต่อเนื่อง และนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศ นั่นเป็นเพราะว่าการเรียนรู้ด้านสะเต็มนั้น เป็นการประยุกต์ใช้ องค์ความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปแก้ปัญหา หรือคิดค้นสิ่งใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านกระบวนการคิด สร้างสรรค์เชิงวิศวกรรม เป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาทั้งผู้เรียนและผู้สอนอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดการพัฒนาทางความคิดสร้างสรรค์ที่นำมาซึ่งความเป็นไปได้และผลลัพธ์ที่สามารถต่อยอดไปได้เอนกอนันต์ เป็นความรู้และทักษะที่ประเมินค่ามิได้ในอนาคต เราคนไทยทุกคนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงควรให้การสนับสนุนการศึกษาทางด้านสะเต็มแก่เยาวชนไทย เพื่อให้พวกเขายกระดับประสิทธิภาพตัวเองให้ทันต่อโลกแห่งอนาคต พร้อมรับมือกับการทดแทนแรงงานคนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนถึงทุกความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหายากจน ปัญหาว่างงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีส่วนช่วยในพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในยุคหลังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อกอบกู้วิกฤตให้ทุกคนในประเทศสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างมั่นคง”
สะเต็มศึกษาไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง หรือเป็นแค่เรื่องในระดับประเทศ แต่เป็นหัวข้อที่ผู้นำความคิดในระดับนานาชาติต่างให้ความสำคัญ เพราะเป็นกลไกที่สามารถพลิกโฉมแรงงานในโลกอนาคตให้เป็นแรงงานที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกๆ มิติ และยังสามารถขับเคลื่อนโลกใบนี้ได้เมื่อเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่คาดไม่ถึงในปัจจุบันและอนาคตที่เราไม่อาจรู้ได้
ที่มา: เวเบอร์ แชนด์วิค