ม.มหิดล สร้าง “นวัตกรรมแห่งความใกล้ชิด” ด้วยพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม
งานพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (Mahidol Social Engagement) มุ่งมั่นสร้างสรรค์ “นวัตกรรมแห่งความใกล้ชิด” (Innovation of Proximity) เพื่อให้มหาวิทยาลัยและชุมชนไม่ห่างไกลกันในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลถือเป็น “ความสำเร็จที่แท้จริง”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย หัวหน้าโครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม กล่าวว่า
งาน Social Engagement คือการสร้างความผูกพันระยะยาวระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัย และใช้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ เข้าไปแก้ไขปัญหาในโลกแห่งชีวิตจริงของชุมชน และสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในด้านคน สิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจ สันติภาพ หรือการสร้างเครือข่ายใดๆ ซึ่งสอดคล้องต่อ 17 เป้าหมาย
การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ (UN)
การดำเนินงานด้าน Social Engagement ของมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบันให้ความสำคัญที่การสร้าง “นวัตกรรมแห่งความใกล้ชิด” (Innovation of Proximity) ที่นอกจากจะทำให้มหาวิทยาลัยมีความใกล้ชิดกับชุมชนแล้ว ยังช่วยให้มหาวิทยาลัยได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบงานดังกล่าวเป็นภารกิจหลักที่ทุกส่วนงานพึงร่วมกันรับผิดชอบ ในการใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนให้ได้มากที่สุด
โดยที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลได้กำหนดให้ทุกส่วนงานเสนอโครงการเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้าน Social Engagement และจะมีการจัดทำเป็น Social Impact Ranking เพื่อเป็นการรณรงค์ที่ชี้วัดถึงผลกระทบทางสังคมของโครงการต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย กล่าวต่อไปว่า งานด้านSocial Engagement ที่ยั่งยืนจะต้องส่งผลกระทบต่อสังคมได้ในระยะยาวบนพื้นฐาน 4 ด้าน ได้แก่ การร่วมคิดร่วมทำแบบหุ้นส่วน ยึดปัญหาในโลกแห่งชีวิตจริงของชุมชนเป็นที่ตั้ง (Partnership) การเกิดประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit) การใช้ความรู้และเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัย (Scholarship) และการเกิดผลกระทบต่อสังคมที่ประเมินได้ (Social Impact)
ซึ่งปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลมีโครงการด้าน Social Engagement ที่แต่ละส่วนงานเสนอมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านงานพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม ถึง 280 โครงการ โดยผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจำนวน 150 โครงการ ตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ อาทิ ความรอบรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับ COVID-19 ของผู้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในชุมชน การสร้างแรงจูงใจกับการควบคุมตนเองในการลดพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนวัยแรงงานในชุมชนการสร้างเสริมทักษะด้าน ICT สู่สังคม การรู้เท่าทันและสร้างสรรค์สื่อปลอดภัย การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ฯลฯ
“งาน Social Engagement เป็นงานที่มีคุณค่าในตัวเอง คำถามสำคัญที่นักปฏิบัติการด้านพันธกิจสัมพันธ์ตั้งคำถามแก่ตนเอง คือ “ทำแล้วเราได้ “ให้” อะไรแก่สังคม ไม่ใช่ว่า ทำแล้วเราได้อะไร” ซึ่งความสำเร็จที่แท้จริง คือ การที่เราสามารถใช้ความรู้ความสามารถเพื่อช่วยเหลือชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งมีความเข้มแข็งและยั่งยืนได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลได้บรรลุปรัชญา “ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ” ตามคำสอนของสมเด็จพระราชบิดา หรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้อย่างแท้จริง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล