เสริมทักษะว่ายน้ำให้นักเรียน กทม. – เฝ้าระวังแหล่งน้ำเสี่ยงในโรงเรียนและชุมชน
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวกรณีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ และในปี 2564 ได้ร่วมกับองค์การช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย (Save the Children) จัดกิจกรรมรณรงค์กระตุ้นให้เด็ก ผู้ปกครอง และชุมชน ตระหนักถึงปัญหาการจมน้ำและการจัดการแหล่งน้ำในชุมชนให้เกิดความปลอดภัยว่า ที่ผ่านมาสำนักการศึกษา ได้จัดทำโครงการว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ปลอดภัย เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. มีทักษะว่ายน้ำขั้นพื้นฐานและทักษะการเอาชีวิตรอด รวมทั้งส่งเสริมการออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพอนามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ โดยจัดสรรงบประมาณให้สำนักงานเขตดำเนินการตามโครงการดังกล่าวให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ทุกคนได้เรียนว่ายน้ำและมีทักษะการเอาชีวิตรอด จำนวน 10-20 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับบริบทของโรงเรียน ขณะเดียวกันได้มีมาตรการป้องกันและแนวทางการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงภายในโรงเรียน เช่น บ่อน้ำ สระน้ำ บ่อเลี้ยงปลา โดยแต่งตั้งคณะกรรมการดูแลความปลอดภัยภายในโรงเรียน มีครูคอยควบคุมดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิดในการเล่น หรือทำกิจกรรมใกล้แหล่งน้ำ จัดทำป้ายปิดประกาศห้ามเด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำที่มีความเสี่ยง ตรวจสอบสภาพคันดินรอบบ่อ รอบสระน้ำให้มีความลาดชันเพียงพอ เพื่อมิให้เด็กลื่นตกลงไปในบ่อ ตลอดจนจัดทำแผงกั้นตกโดยรอบ หรือปลูกต้นไม้เป็นแนวรั้วกั้น หากเป็นบ่อน้ำต้องมีฝาปิดให้มิดชิด ติดตั้งไฟส่องสว่างให้เหมาะสมและใช้การได้ ส่งเสริมให้นักเรียนและผู้ปกครองมีความรู้ด้านการป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการจมน้ำ รวมทั้งเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น นอกจากนั้น ได้กำชับให้จัดเวรยามเฝ้าระวัง ดูแลรักษาความปลอดภัย หมั่นตรวจสอบทุกวัน ทั้งเช้า เย็น และก่อนกลับบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หากเกิดอุบัติเหตุต้องปฐมพยาบาล นำส่งโรงพยาบาล และรายงานผู้บังคับบัญชาทราบโดยด่วน
นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. กล่าวว่า สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ร่วมกับสำนักการศึกษา กทม. จัดกิจกรรมว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ปลอดภัย ให้แก่โรงเรียนในสังกัด กทม. โดยศูนย์สร้างสุขทุกวัย จำนวน 17 แห่ง และศูนย์กีฬา กทม. จำนวน 7 แห่ง ที่มีสระว่ายน้ำ ได้จัดกิจกรรมให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 3 – 6 โดยแบ่งจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมตามความเหมาะสม พร้อมกำหนดแผนการจัดการเรียนรู้ในแต่ละรุ่น ๆ ละ 40 ครั้ง เป็นเวลา 56 ชั่วโมง กิจกรรมเริ่มตั้งแต่การบรรยายภาคทฤษฏี ให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของการว่ายน้ำ วิธีการใช้สระว่ายน้ำ ทักษะที่ถูกต้อง และการฝึกภาคปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงระดับการแข่งขัน เพื่อสร้างความปลอดภัยในการว่ายน้ำและทำกิจกรรมทางน้ำ โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้นำกิจกรรมที่มีความเชี่ยวชาญ อาสาสมัครช่วยปฏิบัติงานของศูนย์ฯ ดำเนินการและควบคุมดูแลความปลอดภัยของนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น ศูนย์กีฬา กทม. จำนวน 7 แห่ง ยังได้จัดอบรมพัฒนาบุคลากรด้านการรักษาความปลอดภัยทางน้ำ อบรมกิจกรรมกีฬาขั้นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มความรู้และพัฒนาการว่ายน้ำ ตลอดจนเปิดให้บริการสระว่ายน้ำแก่ประชาชน โดยกำหนดระเบียบข้อบังคับในการให้บริการสระว่ายน้ำ จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางน้ำพร้อมอุปกรณ์ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้มาใช้บริการสระว่ายน้ำ
นายเฉลิมพล โชตินุชิต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม. กล่าวว่า ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานครให้บริการดูแลเด็กในชุมชนที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปี ได้แนะนำให้ผู้ปกครองดูแลเด็กไม่ให้เข้าใกล้แหล่งน้ำ และนำเด็กฝึกว่ายน้ำตามความเหมาะสม รวมถึงต้องดูแลเด็กก่อนวัยเรียนอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำตามลำพัง พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ครัวเรือนที่มีเด็กแรกเกิด – 2 ปี ใช้คอกกั้นเด็ก (Playpen) ขณะเดียวกันได้วางมาตรการสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชนควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังและแจ้งเตือน เช่น ประกาศเสียงตามสาย ตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง สอนให้เด็กก่อนวัยเรียนรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น และรู้วิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำเมื่อตกน้ำ โดยการลอยตัวเปล่า หรือลอยตัวโดยใช้อุปกรณ์ช่วยชูชีพ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนตระหนักและมีส่วนร่วมดูแลเด็ก นอกจากนี้ หากพบเห็นเด็กก่อนวัยเรียนตกน้ำ ขอให้ใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้ ตะโกน คือ เรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วย และแจ้งสายด่วนทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โยน คือ โยนอุปกรณ์ หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ให้เด็กเกาะจับพยุงตัว โดยโยนครั้งละหลาย ๆ ชิ้น และยื่น คือ ยื่นอุปกรณ์ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ เป็นต้น
ที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร