ม.มหิดล ถอดบทเรียนนวัตกรสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์จากข้าวไทย ผ่านระบบออนไลน์ 23 มี.ค.นี้
จากความสำเร็จในการวิจัยผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์จากข้าวไทย ที่สร้างความหวังในการเพิ่มรายได้แก่ชาวนาไทย โดยเริ่มต้นจากห้องปฏิบัติการ สู่อุตสาหกรรมการผลิตอาหารทางการแพทย์ระดับชาติ เป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์ร่วมคิดพาณิชย์นวัตกรรม (Mahidol Industry Connection Center หรือ MICC) สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภาคภูมิใจนำมาถอดบทเรียนออนไลน์ เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 23 มีนาคม 2564 นี้
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการริเริ่มสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรม ผู้ที่เป็นนวัตกรโดยสายเลือด จะวางแผนจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมุ่งเป้าหมายไปที่ความต้องการที่แท้จริงของสังคมด้วย ซึ่งเป้าหมายสูงสุดที่แท้จริงของการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดล คือ การให้คนไทยได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดล
จากผลงานการวิจัยผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์จากข้าวไทยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร์ ไชยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำให้ข้าวไทยสามารถก้าวสู่อุตสาหกรรมการผลิตอาหารทางการแพทย์ระดับชาติได้อย่างภาคภูมิ ซึ่งนอกจากเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชาวนาไทยแล้ว ยังเป็นการพัฒนามุมมองการต่อยอดคุณประโยชน์ของข้าวไทยที่เริ่มต้นจากห้องปฏิบัติการ มาพัฒนาสู่อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ต่อไปอีกด้วย
ซึ่งการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใดๆ สู่ตลาด จะต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ที่จะนำมาใช้ โดยจะต้องมีความชัดเจนในเบื้องต้นก่อนว่าจะทำวิจัยเรื่องอะไร มีเป้าหมายเพื่ออะไร นอกจากนี้ จะต้องมีความพร้อมและความเป็นไปได้ที่จะทำ ทั้งตัวผู้วิจัย และงบประมาณที่จะนำมาลงทุน และที่สำคัญสำหรับงานวิจัยที่จะพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ต้องมีการลงไปทำปฏิบัติการจริง ณ สถานที่ผลิต (Industrial Scale) ตลอดจนจะต้องมีความรู้ในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย โดยในส่วนของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์นั้น จะต้องศึกษากฎหมายของ CODEX (The Codex Alimentarius Commission) หรือ คณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ ที่กำหนดโดย องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งมาตรฐานการขึ้นทะเบียนองค์การอาหารและยา (อย.) ในทุกแง่มุมที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากแม้จะผลิตได้ แต่ถ้าขอขึ้นทะเบียนไม่ได้ งานวิจัยก็ไม่บรรลุผล
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร์ ไชยกุล จะมาถอดบทเรียนออนไลน์ “นวัตกรรมข้าวไทย ใส่ใจเบาหวาน” ซึ่งจัดโดย ศูนย์ร่วมคิดพาณิชย์นวัตกรรม (Mahidol Industry Connection Center หรือ MICC) สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 23 มีนาคม 2564 เวลา 13.00 – 15.00 น. ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่ FB: iNT สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายในวันที่ 21 มีนาคม 2564
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล