อว. ปลื้มหลักสูตร Reskill-Upskill-Newskill คนแห่สมัครล้น เตรียมของบ 10 ล้าน พัฒนาหลักสูตรต่อเนื่อง สร้างงาน สร้างอาชีพ ช่วยคนตกงานจากโควิด-19
อว.ปลื้ม! หลักสูตรพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/Upskill/Newskill) คนแห่สมัครล้น เผย 3 กลุ่มทักษะยอดฮิต เกษตรอัจฉริยะ-การท่องเที่ยวอัจฉริยะ-การดูแลผู้สูงวัย ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ชี้ปี 2564 เตรียมเดินหน้าเสนองบต่อเนื่อง มุ่งขยายการรับรู้และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ในวงกว้าง หวังสร้างงาน สร้างอาชีพ ช่วยคนตกงานจากโควิด-19
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. เตรียมเสนองบประมาณกว่า 10 ล้านบาท ใน “โครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/Upskill/Newskill) เพื่อการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคตหลังวิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” ต่อเนื่อง หลังจากที่ประสบความสำเร็จไปในปีที่ผ่านมา โดยพบว่ามีผู้สมัครเรียนหลักสูตรในการพัฒนาทักษะจำนวน 42 หลักสูตร ใน 8 กลุ่มทักษะอาชีพ เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดถึง 33%
โครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/Upskill/Newskill) จัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมการทำงานในอนาคตหลังวิกฤตโควิด-19 โดยหลักสูตรดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นในการขยายโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาและยกระดับทักษะผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 พร้อมกลับสู่ตลาดงานหรือประกอบอาชีพใหม่ สร้างทักษะให้กับกลุ่มว่างงาน/ แรงงานคืนถิ่น/ ผู้ประกอบการอาชีพอิสระ เพื่อให้สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพด้วยตนเอง รวมทั้งเพิ่มทักษะชั้นสูงและการทำงานสมัยใหม่ให้กับกำลังคนในภาค SMEs และภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
ทั้งนี้เป้าหมายของโครงการฯ ไม่เพียงแต่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เท่านั้น ยังรวมถึงผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเอง ครอบคลุมทั้งนักศึกษา พนักงานประจำ ผู้ที่กลับภูมิลำเนาหรือแรงงานคืนถิ่น ตามแนวคิดการมุ่งพัฒนาวิชาชีพตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
สำหรับในปี 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มทักษะอาชีพที่ได้รับความนิยม 3 อันดับต้น จาก 8 กลุ่มทักษะอาชีพ ได้แก่
- อุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ปี 2564 ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 รอบใหม่ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยต้องเร่งฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ลดการพึ่งพิงจากต่างประเทศ และมุ่งพัฒนาสินทรัพย์ทางทรัพยากรของประเทศ ยกระดับภาคการเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรอัจฉริยะ (สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง) และเกษตรปลอดภัย (GAP) เพื่อเป็นทางรอดให้แก่ประเทศ ด้วยการเรียนรู้ทักษะในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การบริหารข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำเหมาะสมในการทำการเกษตร
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอัจฉริยะ (Smart Tourism) การท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตการณ์โควิด-19 และมีความจำเป็นต้องเรียนรู้ปรับตัวให้ทันโลกอยู่เสมอ จึงต้องสร้างและพัฒนาทักษะด้านต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและสามารถดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการบริหารจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและการส่งเสริมการตลาด ตลอดจนเรียนรู้วัฒนธรรมและความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยว
- อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ด้านการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ (Care Giver Industry) ทักษะนี้ถือเป็นกลุ่มทักษะที่เป็นที่ต้องการมากในปัจจุบันและในอนาคตที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุจะกลายเป็นตลาดแห่งอนาคตที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยตัวอย่างหลักสูตรในทักษะที่ได้รับความนิยม ได้แก่ หลักสูตรการบังคับและควบคุมการบิน โดรนเพื่อการเกษตรเชิงพาณิชย์ หลักสูตรการฟื้นฟูคืนชีวิตให้กับชุมชนผ่านการท่องเที่ยวแบบสมาร์ทเพื่อความยั่งยืน และหลักสูตรประกาศนียบัตรดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เป็นต้น
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้แล้ววันนี้ ทางเว็บไซต์ www.mhesi.go.th และ www.futureskill-newcareer.in.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: FutureSkillNewCareerThailand LINE : @fsncth เบอร์โทร 02-039-5612 และ 02-039-5636-38
ที่มา: สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม