คณะวิศวฯ มก. สนับสนุนงบฯ 3 ล้านบาท เดินหน้าพัฒนา นวัตกรรมต้านภัยโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

คณะวิศวฯ มก. สนับสนุนงบฯ 3 ล้านบาท เดินหน้าพัฒนา นวัตกรรมต้านภัยโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) สนับสนุนให้อาจารย์นำความรู้ด้านวิศวกรรมพัฒนาและผลิตนวัตกรรมช่วยเหลือสังคมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ระลอกแรกถึงปัจจุบัน โดยสนับสนุนงบประมาณ  1 ล้านบาทในสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรก และ 2 ล้านบาท สำหรับโควิด-19 ระลอกใหม่ รวม 3 ล้านบาท ภายใต้โครงการวิศวฯ ร่วมต้านภัย COVID-19 เพื่อผลิตนวัตกรรมที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และส่งมอบแก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจรักษาผู้ป่วย พร้อมทั้งช่วยป้องกันโควิด-19 ให้กับทีมแพทย์และผู้เข้ารับการตรวจหาเชื้อ

ผลงานนวัตกรรมต้านภัยโควิด-19 ที่พัฒนาโดยทีมอาจารย์คณะวิศวฯ มก. ได้รับการตอบรับที่ดีจากทีมแพทย์ผู้ใช้งานจริง เช่น ตู้ความดันบวก Face Shield (อุปกรณ์ป้องกันใบหน้า) ได้ใช้งานจริงในโรงพยาบาลกว่า 100 แห่ง เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลสมุทรสาคร โรงพยาบาลปทุมธานี และหุ่นยนต์พ่นละอองฆ่าเชื้อ ใช้งานจริงที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรณี COVID-19 กองทัพเรือ พื้นที่สัตหีบ (ส่วนหน้า) และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ จ.ชลบุรี ฯลฯ โดยคณะวิศวฯ ได้พัฒนาประสิทธิภาพของนวัตกรรมต้านภัยโควิด-19 อย่างต่อเนื่องจากคำแนะนำของทีมแพทย์

ตู้ความดันบวก มีหลักการทำงาน คือ แพทย์ผู้ตรวจจะอยู่ภายในตู้ตรวจ และผู้ป่วยอยู่ภายนอก โดยแพทย์จะเข้า-ออกตู้ตรวจผ่านประตูกระจก เพิ่มความปลอดภัย มั่นใจทั้งผู้ใช้งานและผู้เข้ารับการตรวจใช้ตรวจผู้ป่วยได้ 20-30 คน/ชั่วโมง/ตู้ ออกแบบและพัฒนาโดยทีมอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล นำโดย ผศ.ดร.ประพจน์ ขุนทอง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล รศ.ดร.วีรชัย ชัยวรพฤกษ์ ผศ.ดร.เกรียงไกร อัศวมาศบันลือ ผศ.ดร.อรรถพร วิเศษสินธุ์ และ ผศ.ดร.เจตวีย์ ภัครัชพันธุ์

Face Shield คณะวิศวฯ ผลิตโครง Face Shield จากเครื่องฉีดพลาสติกของศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทางอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. ในปริมาณการผลิต 700-800 ชิ้น/วัน โดยมี ผศ.ดร.คุณยุต เอี่ยมสอาด ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล เป็นผู้ควบคุมการผลิต และมีบุคลากรตลอดจนนิสิตคณะวิศวฯ ร่วมประกอบแผ่นใสและยางยืด มีจุดเด่น คือ มีน้ำหนักเบา ปรับขนาดได้ และไม่เกิดฝ้าที่หน้ากาก

หุ่นยนต์พ่นละอองยาฆ่าเชื้อ พัฒนาโดย ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา และทีมนักวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นหุ่นยนต์สำหรับการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ป้องกันเชื้อฟุ้งกระจาย ลดความเสี่ยงสำหรับผู้ปฏิบัติงานในการฉีดพ่นน้ำยา มีน้ำหนักเบา มีกล้องติดที่ตัวหุ่นยนต์ สามารถดูการปฏิบัติงานผ่านโทรศัพท์หรือจอขนาดเล็กได้ เหมาะสำหรับพื้นที่สาธารณะและบริเวณโดยรอบอาคาร

รายละเอียดเพิ่มเติม

ตู้ความดันบวก https://www.eng.ku.ac.th/news/?p=5835

Face Shield https://www.eng.ku.ac.th/news/?p=5798

หุ่นยนต์พ่นละอองยาฆ่าเชื้อ https://www.eng.ku.ac.th/news/?p=5856

ที่มา: คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ