สอวช. และ มจธ. ผนึกกำลังสร้างความเข้มแข็งให้กับนักพัฒนานโยบายรุ่นใหม่ พร้อมใช้รูปแบบการเรียน Hybrid Learning System และ Learning platform
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดพิธีเปิดหลักสูตรนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 3 (STIP03) ณ อาคาร KX มจธ. โดยมีเนื้อหาหลักสูตรที่เน้นถึงการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้และความสามารถในการออกแบบและจัดทำนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) รวมถึงการสร้างเครือข่ายของนักพัฒนานโยบาย อววน. ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. และรองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวต้อนรับ และเปิดงานในครั้งนี้
ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมาในรุ่นที่ 1 และ 2 พบว่า หลักสูตรนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ผู้ผ่านการฝึกอบรมได้รับความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนานโยบาย จนนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน จึงได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในรุ่นที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานในระบบ อววน. รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อการสร้างเครือข่ายนักพัฒนานโยบาย (Policy network) ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบาย อววน. ของประเทศ
“STIP 03 มีระยะเวลาหลักสูตรรวม 20 สัปดาห์ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายด้าน
สลับสับเปลี่ยนกันมาให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาข้อเสนอนโยบาย ความรู้พื้นฐาน กระบวนการการจัดทำนโยบายให้กับผู้เข้าร่วมการอบรม โดยครอบคลุมประเด็นในการพัฒนาข้อเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้าน อววน. และประเด็นใหม่ที่น่าจับตามอง เช่น การวิจัยมิติเชิงสังคม คนรุ่นใหม่และสังคมแบบเปิด การสร้างวัฒนธรรม การวิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น เพื่อเปิดกว้างและรับฟังแนวความคิดใหม่ๆ จากผู้เข้ารับการอบรม พร้อมต่อยอดข้อเสนอนโยบายผลักดันให้เป็นนโยบายในระดับชาติได้ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้รับความรู้และประสบการณ์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการออกแบบและขับเคลื่อนการดำเนินนโยบาย อววน. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองและมีความพร้อมในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้าน อววน. เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป”
อีกหนึ่งความพิเศษของหลักสูตรฯ รุ่นที่ 3 นี้ คือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน เพื่อรองรับการเรียนการสอนทั้งรูปแบบออนไลน์ (Online) และออนไซต์ (On-site) ตอบโจทย์การรักษาระยะห่างภายใต้สถานการณ์ โควิด-19 และการเรียนทางไกล (Distance Learning) โดยการใช้แพลตฟอร์มการเรียนรู้ (Learning Platform) ผ่านเว็บไซต์ www.STIPIacademy.com สำหรับใช้ในหลักสูตรฯ ให้ผู้เข้าร่วมการอบรมสามารถเข้าถึงหลักสูตรได้ผ่านช่องทางออนไลน์ และสนับสนุนให้สามารถเรียนรู้และเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ ทุกเวลา
สำหรับการใช้งานเว็บไซต์ มีการออกแบบให้เข้าถึงได้ง่าย สะดวกสบาย เมื่อผู้อบรมล็อคอินเข้าสู่ระบบผ่านเว็บไซต์ จะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรได้ทันที ทั้งในส่วนการแจ้งข่าวสาร การให้ข้อมูลหลักสูตร การดาวน์โหลดเอกสาร คู่มือ การรับ-ส่งการบ้าน การทำแบบทดสอบ การถามตอบผ่าน Forum เปิดโอกาสให้ผู้อบรมสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างผู้เรียนและวิทยากรได้มากขึ้น นอกจากนี้ผู้อบรมยังสามารถรับ Feedback ข้อเสนอแนะหลังจากส่งงานได้ผ่านเว็บไซต์ เพื่อนำไปพัฒนางานให้ดีขึ้นได้ในครั้งต่อไป
การอบรมในครั้งนี้ยังได้ปรับรูปแบบการติดตามและประเมินผลก่อน ระหว่าง และภายหลังการอบรมของผู้เรียน มีระบบพี่เลี้ยง และที่ปรึกษา เพื่อติดตามและประเมินในด้านคุณภาพของนโยบาย ความรู้/ทักษะ/สมรรถนะของผู้เรียน รวมทั้งการมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมอบรมด้วยกันเอง เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันในอนาคต
สำหรับหลักสูตรฯ นี้ ได้รับความสนใจจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 56 คน จาก 11 หน่วยงาน ได้แก่ สอวช. สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สมาคมนักวิจัยไทยรุ่นใหม่ (TYSA) มจธ. สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และสร้างนวัตกรรม (บพค.) ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
ของประเทศ (บพข.)
ที่มา: สอวช.