จุฬาฯ จดสิทธิบัตร เทคโนโลยีโภชนาการแห่งอนาคต “หุ่นยนต์ชีวภาพนำส่งสารสกัดจากสมุนไพรไทย”
อาจารย์สัตวแพทย์ จุฬาฯ พัฒนาหุ่นยนต์ชีวภาพ ตั้งเวลานำส่งสารอาหารในร่างกายให้ได้ประโยชน์เน้นๆ สกัดจากสมุนไพร ปลอดภัยและได้ผล เพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย
อาหาร ยา อาหารเสริม ไม่ว่าจะอวดสรรพคุณว่าดีแค่ไหน หากเข้าสู่ร่างกายแล้วถูกย่อยก่อนที่ร่างกายจะดูดซึมสารอาหารดีๆ เหล่านั้นเข้าไป ก็ไร้ประโยชน์ กลายเป็นความสิ้นเปลือง อาจารย์ ดร.ธีรพงศ์ ยะทา นักวิชาการประจำหน่วยชีวเคมี ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้วิจัย “หุ่นยนต์ชีวภาพนำส่งสารสกัดจากสมุนไพรไทย” เพื่อแก้ปัญหานี้
“เราเรียกนวัตกรรมด้านโภชนาการนี้ว่าหุ่นยนต์ เนื่องจากกลไกอันชาญฉลาดของมันที่สามารถกำหนดเวลาปลดล็อกโพลิเมอร์ที่ห่อหุ้มผิวนอกของอาหารได้ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ผนังลำไส้ดูดซึมสารอาหารหรือตัวยาสำคัญที่ต้องการให้ร่างกายได้รับ ลดการสูญเสียคุณค่าทางอาหารระหว่างกระบวนการย่อยที่สารอาหารบางตัวอาจถูกทำลายด้วยกรดในกระเพาะอาหาร” อาจารย์ ดร.ธีรพงศ์ อธิบายขยายความจากงานวิจัยเรื่อง “หุ่นยนต์ชีวภาพนำส่งสารสกัดจากสมุนไพรไทย”
หุ่นยนต์ที่ว่านี้มีขนาดเล็กมาก เทคโนโลยีสำคัญที่ใช้คือการเคลือบหรือห่อหุ้มสารอาหารระดับอนุภาคนาโน ทั้งไมโครเอนแคปซูเลชัน (Microencapsulation) และนาโนเอนแคปซูเลชัน (Nanoencapsulation) ซึ่งป้องกันมิให้สารอาหารถูกทำลายระหว่างกระบวนการย่อยอาหารในกระเพาะ
วัสดุที่ใช้ในการแปรรูปเป็นหุ่นยนต์ชีวภาพผลิตจากโพลิเมอร์ธรรมชาติ ได้แก่ สาหร่ายทะเล เปลือกกุ้ง ปู ซึ่งราคาไม่แพง ปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์และสัตว์ รวมถึงสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ส่วนผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ในการห่อหุ้ม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากขมิ้นชัน ใบบัวบก งาดำ และถั่งเช่า ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมส่วนเคลือบสมุนไพรนาโนนี้เข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิตได้เช่นเดียวกับสารอาหารทั่วไป โดยไม่มีอันตรายแต่อย่างใด อาจารย์ ดร. ธีรพงศ์ กล่าวเสริม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จดสิทธิบัตร “หุ่นยนต์ชีวภาพนำส่งสารสกัดจากสมุนไพรไทย” กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทุกวันนี้มีการนำหุ่นยนต์ชีวภาพไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มอาหารสุขภาพ อาหารฟังก์ชัน ซึ่งเป็นเทรนด์อาหารแห่งอนาคตที่มักเติมสารต่อต้านอนุมูลอิสระหรือวิตามินเพิ่มเข้าไป
“ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากหุ่นยนต์ชีวภาพ ที่จะช่วยปล่อยสารอาหารสำคัญให้ร่างกายดูดซึมได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณค่าทางอาหารไม่สูญเสียระหว่างทาง ทำให้ไม่ต้องบริโภคอาหารเสริมในปริมาณที่มากจนส่งผลเสียต่อตับ” อ.ดร.ธีรพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการนำหุ่นยนต์ชีวภาพไปใช้กับอาหารสัตว์ด้วย อย่างกรณีสัตว์ดื้อยาปฏิชีวนะ ก็จะใช้เคลือบสมุนไพรนาโนทดแทน เช่น น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) ที่กำหนดให้สารสำคัญออกฤทธิ์ตรงลำไส้ส่วนปลายของสัตว์ซึ่งเต็มไปด้วยเชื้อก่อโรค
อาจารย์ ดร.ธีรพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “หุ่นยนต์ชีวภาพยังเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการสมุนไพรไทยที่ต้องการหาจุดแข็งและจุดขายที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ถือเป็นนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าให้แก่สมุนไพรทั้งในและนอกประเทศอีกด้วย”
ที่มา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย