ครั้งแรกกับVirtual Exhibitionนิทรรศการงานศิลป์ และซื้อภาพการกุศลผ่าน E-Commerce ในโครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช ปีที่ 14
บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ อินทัช สร้างประสบการณ์ใหม่ผ่านการจัดนิทรรศการ Virtual Exhibition แสดงผลงานศิลปะของเยาวชนที่มาจากการคิด วิเคราะห์ และถ่ายทอดจินตนาการที่ได้จากการอ่านวรรณกรรมไทยเป็นผลงานศิลปะหัวข้อ “ฉันรักเมืองไทย” และ “รักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์โลกของเรา” ในโครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช ปีที่ 14 พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถชมและเลือกซื้อภาพการกุศลผ่านระบบ E-Commerce ได้ทาง www.intouchstation.com รายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่ายสมทบทุนมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เพื่อเป็นทุนการศึกษาของนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายองค์กรต้องปรับตัวและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อให้งานต่างๆ สามารถดำเนินต่อไปได้ โครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช ในปีนี้ได้ปรับการทำงานหลายมิติ เช่น ให้เยาวชนสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ และนำเสนอผลงานผ่านออนไลน์ การจัดนิทรรศการเสมือนจริง virtual exhibition เพื่อสร้างการนำเสนอมุมมองใหม่ สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และยังคำนึงถึงมาตรการป้องกันตนเองตามที่รัฐกำหนดอย่างเคร่งครัด
จากผลงานของเยาวชนทั่วประเทศตั้งแต่ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ถึงอุดมศึกษากว่า 1,430 ผลงาน ผ่านการตัดสินของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสายทัศนศิลป์ และวรรณศิลป์ 7 ท่าน ได้แก่ คุณเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2554 คุณปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2557 คุณสังคม ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร คุณเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตไทย คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) พุทธศักราช 2536 คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) พุทธศักราช 2555 และคุณธวัชชัย สมคง บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Fine Art จนได้ 44 ผลงานที่ได้รับรางวัล และ 22 ผลงานร่วมจัดแสดงที่สามารถถ่ายทอดได้ตรงกับเนื้อหาวรรณกรรม มีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และมีเทคนิคการนำเสนอโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เช่น นำเสนอวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมไทย วัฒนธรรมประเพณี และสิ่งแวดล้อม
อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน เผยว่า “การประกวดในเวทีนี้ช่วยส่งเสริมงานศิลปะทั้ง 2 ประเภท คือ จิตรกรรม และวรรณกรรม โดยผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดจะต้องอ่านวรรณกรรมก่อน เพราะการอ่านเป็นต้นทางของจินตนาการและต้นทางของความคิด สำคัญที่สุดคือ ให้เด็กได้รักการอ่านอย่างแท้จริง หากได้อ่านหนังสือจะแตกฉานภูมิปัญญาของเรามากขึ้นทำให้งานเขียนรูป หรืองานศิลปะจะมีเนื้อหา สร้างสรรค์ โดดเด่น กระทบความรู้สึกของเรามากกว่าที่เราจะเขียนจากจินตนาการของเราเองเท่านั้น นี่จึงเป็นการส่งเสริมการอ่านหนังสือที่ดีที่สุดของเยาวชน ซึ่งงานอย่างนี้อยากให้มีมากขึ้นในประเทศไทย เพื่อจะได้พัฒนาคุณภาพของคน และสังคมของเราได้ด้วย”
คุณธวัชชัย สมคง บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร FineArt คณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า “ผลงานปีนี้มีคุณภาพมากกว่าทุกปี อาจเป็นเพราะหัวข้อที่เปิดกว้าง เด็กเริ่มรู้แล้วว่าถ้าจะส่งประกวดในโครงการนี้จะต้องอ่านวรรณกรรมควบคู่กับการสร้างงาน คิดว่าทิศทางที่วางไว้สำหรับการประกวดกำลังจะเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น เยาวชนควรเตรียมตัวเองให้มีพลวัตมากพอ คือ ไม่ควรอ่านหนังสือเพื่อการประกวดเท่านั้น แต่ควรฝึกอ่านหนังสือเพื่อยกระดับความรู้ และความคิดของเรา สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมโดยรอบ และหยิบเรื่องราวเหล่านั้นมาตีความผ่านเรื่องราวของหนังสือแล้วก็นำเสนอเป็นชิ้นงานจิตรกรรม เพราะความคิดที่รอบด้านจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของงานได้”
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับประถมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ เด็กชายนนทพัทธ์ พุตสุด โรงเรียนบ้านโนนเขวา ผลงาน หน้ากากผี จากวรรณกรรม ประเพณีพื้นบ้าน ตำนานพื้นเมือง, มัธยมศึกษาตอนต้น ได้แก่ เด็กหญิงกัลยณัฏฐ์ โอษธีศ โรงเรียนโพธิสารพิทยากร ผลงาน เสน่ห์กทม. จากวรรณกรรมเรื่อง ครอบครัวกลางถนน, มัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ นายธนพงษ์ สีหมอก โรงเรียนมัธยมวัดบึงทองหลาง ผลงาน ตัวไกลใจไทย จากเพลงคิดถึงเมืองไทย อุดมศึกษา ได้แก่ นายพฤทธิ์ วันทะนัง วิทยาลัยเพาะช่าง ผลงาน วัฏจักรของชีวิต 2 จากวรรณกรม เพชรพระอุมา
เด็กชายนนทพัทธ์ พุตสุด ชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านโนนเขวา จ.ขอนแก่น ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษาตอนปลาย กล่าวว่า “ภาพหน้ากากผี ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสมัยผมเรียนอยู่ ป.1 คุณแม่พาไปเที่ยวงานผีตาโขน จ.เลย ผมตื่นเต้นมากที่ได้เห็นผู้คนใส่หน้ากากและออกมาเต้นรำอย่างสนุกนาน ภาพหน้ากากผีที่ผมวาดสื่อถึงเรื่องราววิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีไทยความเป็นอยู่ที่มีการละเล่นที่สนุกสนาน มีวัฒนธรรมที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เห็นได้จากผีตาโขนเป็นการวาดภาพที่มีลวดลายบนหน้ากาก ศรีษะมีลักษณะคล้ายหวดนึ่งข้าวเหนียว ใบหน้ายาว และมีจมูกโค้งงอ ตกแต่งรังสรรค์ สื่อถึงความสนุกสนาน และผมอยากถ่ายทอดวิถีชีวิต ความประทับใจ ความสวยงามของผีตาโขนผ่านเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรม ผ่านหน้ากากผีตาโขนเพื่อให้คนไทยและคนทั่วโลกได้รู้ว่าประเทศไทยก็มีของดีเหมือนกัน”
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถร่วมชมนิทรรศการและสนับสนุนผลงานของเยาวชนผ่านระบบ E-Commerce ได้ที่ www.intouchstation.com ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป รายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายสมทบทุนมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา โครงการบัณฑิตคืนถิ่น เพื่อเป็นทุนการศึกษาของนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของโครงการได้ที่แฟนเพจ www.facebook.com/intouchstation สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 02-118-6953 หรือ Line ID: Jintanakarn.intouch
ที่มา: อินทัช โฮลดิ้งส์