คณะพาณิชยศาสตร์ฯ ม.อ.ตรัง ร่วมกิจกรรมสืบสานตำนานข้าว ตอน เมล็ดข้าวสู่การเรียนรู้ จัดโดย ศูนย์อาสาสมัคร ม.อ. วิทยาเขตตรัง

คณะพาณิชยศาสตร์ฯ ม.อ.ตรัง ร่วมกิจกรรมสืบสานตำนานข้าว ตอน เมล็ดข้าวสู่การเรียนรู้ จัดโดย ศูนย์อาสาสมัคร ม.อ. วิทยาเขตตรัง

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2564) ที่ พื้นที่ ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ดร.นิพัฒน์ โพธิ์วิจิตร คณบดีคณะพาณิชยศาตร์และการจัดการ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ครรชิต เชื้อขำ รองคณบดีฝ่ายบริหาร ดร.ฮาซันอักริม ดงนะเด็ง ประธานหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการจัดการรัฐกิจ ดร.พิเชตวุฒิ นิลละออ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการรัฐกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ในฐานะคณะกรรมการดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล แบบบูรณาการศูนย์อาสาสมัคร ม.อ. วิทยาเขตตรัง นางสาวสุวิมล เกตุทอง ผู้ประสานงานศูนย์อาสาสมัคร ม.อ. วิทยาเขตตรัง ร่วมกิจกรรมเปิดโลกที่นาหมื่นศรี สืบสานตำนานข้าวนาหมื่นศรี ตอน เมล็ดข้าวสู่การเรียนรู้ จัดโดย ศูนย์อาสาสมัคร

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง บัณฑิตอาสา อาสาสมัครชุมชน และนักศึกษาอาสาตำบล จากตำบลควนปริง ตำบลนาข้าวเสีย ตำบลนาหมื่นศรี ตำบลนาโยงใต้

ดร.พิเชตวุฒิ ได้กล่าวถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า เป็นหนึ่งกิจกรรมย่อยของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ต่อเนื่องจากการลงพื้นที่ตำบลโคกสะบ้า และตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง โดยสองครั้งที่ผ่านมาผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้ถึงวิธีการเก็บเกี่ยวข้าว ข่มข้าว ช่อซัง การทำขวัญข้าว การนวดข้าว เป็นต้น แต่รูปแบบของกิจกรรมในวันนี้ จะเป็นการนำองค์ความรู้ที่ได้มาต่อยอดในอีกระดับหนึ่งคือแปรรูปให้ออกเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยทุกคนจะได้เรียนรู้ขั้นตอนจากการนำข้าวเปลือกมาตาก สีข้าว ขวัดข้าว ทำให้เป็นเมล็ดข้าวสาร ก่อนจะนำไปบดให้เป็นแป้งเพื่อใช้ในการแปรรูปออกมาเป็นผลผลิตอื่นๆ ต่อไป เช่น ขนมครก ขนมรู เป็นต้น ซึ่งผู้ร่วมโครงการทุกคนจะต้องมีการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ ลงมือทำจริง เพื่อสร้างประสบการณ์ จะได้เข้าใจทุกขั้นตอนการทำและทราบปัญหาได้

ดร.พิเชตวุฒิ เผยว่า หลังจากกิจกรรมในวันนี้ จะมีกิจกรรมเปิดตัวพื้นที่อีกสองพื้นที่ คือ พื้นที่ตำบลนาโยงใต้ และพื้นที่ ตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ซึ่งหลังจากที่ทำกิจกรรมเปิดตัวพื้นที่จนครบแล้ว สิ่งที่บัณฑิตอาสา อาสาสมัครชุมชน และนักศึกษาอาสาตำบลจะต้องทำต่อไป คือการเก็บข้อมูลของแต่ละชุมชน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ประเด็นปัญหา สอบถามความต้องการของชุมชนให้ลึกซึ้ง และจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาข้าวแบบครบวงจรโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาทักษะในด้านการทำนา การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวในรูปแบบใหม่ และการเพิ่มช่องทางทางการตลาด จนเป็นที่รู้จักมากขึ้น และผลักดันในทุกพื้นที่สามารถเกิดแหล่งท่องเที่ยวชุมชนได้ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในระยะยาว โดยจะต้องเป็นความร่วมมือในระดับจังหวัดต่อไป.

ที่มา: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ