ม.มหิดล ส่งเสริมเด็กและครอบครัวรณรงค์ลดเสี่ยง COVID-19 ผ่านการเรียนรู้และร่วมกิจกรรมชิงรางวัลออนไลน์ครั้งแรก
คณะกรรมาธิการนานาชาติว่าด้วยการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ของ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ประกาศถึง 4 เสาหลักทางการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย การเรียนรู้เพื่อรู้ (Learning to know) การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติ (Learning to do) การเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกัน (Learning to live together) และการเรียนรู้เพื่อชีวิต (Learning to be)
ในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งหมุนไปพร้อมกับเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดฝันนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 หรือสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย “เด็ก” คือความหวังของการอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ คือผู้นำที่จะต่อสู้การเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว (NICFD) ได้ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อการสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (CSIP) มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมชิงรางวัลออนไลน์เพื่อรณรงค์การลดเสี่ยง COVID-19 ครั้งแรกสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งตอบโจทย์ 4 เสาหลักทางการศึกษาของ UNESCO
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว (NICFD) และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อการสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (CSIP) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การลงทุนที่ไม่ต้องใช้เงิน แต่ได้ผลที่ยั่งยืน คือ การให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยในการรณรงค์เรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ในบ้าน ซึ่งในช่วงที่เด็กๆ ต้องหยุดเรียนในช่วงวิกฤติ COVID-19 ทางสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว (NICFD) ได้ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อการสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (CSIP) มหาวิทยาลัยมหิดล รวบรวมเอาองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มาจัดทำในรูปแบบของคลิปวิดีโอ เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ และประยุกต์ใช้องค์ความรู้ดังกล่าว มาสร้างสรรค์เป็นโครงงานเพื่อการรณรงค์ลดเสี่ยง COVID-19 แล้วส่งมาประกวดชิงรางวัลกัน ซึ่งนอกจากเด็กๆ จะได้รับความรู้ และได้แสดงความคิดสร้างสรรค์แล้ว เด็กๆ ยังได้ปฏิบัติตนเพื่อการป้องกัน COVID-19 จนเป็นนิสัย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว จากการที่ให้พ่อแม่ได้ช่วยลูกในการเรียนรู้ทำความเข้าใจกับบทเรียนและทำโครงงานอีกด้วย
กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยใช้ชื่อว่า “วิทยาศาสตร์เพื่อการป้องกันอุบัติภัยและโรคระบาด COVID-19” เนื่องจากเด็กๆ ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่การตั้งโจทย์การแก้ปัญหา การคิดวิธีการแก้ไขปัญหา การลงมือแก้ไขปัญหาตามวิธีที่คิดและการวัดประเมินผลจากการลงมือทำ ยกตัวอย่างเช่น เด็กๆ พบว่าพ่อแม่กลับจากที่ทำงานแต่ไม่ยอมเปลี่ยนเสื้อในทันที แต่มาเล่นกับลูกก่อน ในขณะที่ได้เรียนรู้ว่าเชื้อ COVID-19 มาจากการไอ จาม น้ำมูก น้ำลายของเพื่อนๆ ที่ทำงานของพ่อแม่ ซึ่งอาจจะติดมากับเสื้อพ่อแม่ จึงได้มาคิดแก้ปัญหาโดยให้พ่อแม่ไปอาบน้ำให้เร็วที่สุดก่อนมาเล่นกับลูก แล้วใช้วิธีการพูดคุย หรือติดป้ายวาดการ์ตูนติดไว้หน้าบ้านว่า “กรุณาเปลี่ยนเสื้อก่อนเล่นกับลูก” เป็นต้น จากนั้นพอผ่านไปสักระยะ ก็จะมาวัดผลกันว่าพ่อแม่เปลี่ยนเสื้อเร็วขึ้นหรือไม่ แล้วถ่ายคลิปบรรยายส่งมาร่วมสนุก โดยอาจให้พ่อแม่ช่วยด้วย
โครงการฯ ได้เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 16 ปี ส่งคลิปความยาวประมาณ 2 – 5 นาที ก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 พร้อมกับร่วมสนุก และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ รวมทั้งวัดผลออนไลน์ผ่านระบบ Zoom กันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อรับประกาศนียบัตรซึ่งจะส่งให้ทั้งตัวเด็กๆ เอง และโรงเรียนของเด็กๆ เพื่อรับรองการเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้อีกด้วย
ซึ่งคลิปวิดีโอที่ทางโครงการฯ ได้รวบรวมไว้สำหรับเด็กๆ มีตั้งแต่การให้เด็กๆ ได้รู้จักกับ COVID-19 อาการของ COVID-19 การปฏิบัติตัวในที่สาธารณะ วิธีการป้องกันตัวเองและคนในบ้าน การทำความสะอาดป้องกันโรค COVID-19 วิธีล้างมือ 7 ขั้นตอน และวิธีเลือกหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้มีการนำหลักสูตร “The Safety Hunter ภารกิจพิชิตจุดเสี่ยง” ของโครงการฯ มาจัดทำในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย
โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ป.1 – 3 ป.4 – 6 และ ม.1 – 3 ซึ่งปัจจุบันมีเด็กๆ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 300 ราย สำหรับผู้ปกครอง โรงเรียนที่สนใจ หรือหน่วยงานใดมีความประสงค์จะร่วมให้การสนับสนุนโครงการฯ สามารถติดต่อได้ทาง Facebook: NICFD หรือ CSIP www.cf.mahidol.ac.th ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 นี้
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล