มช. จับมือ ซีพีเอฟ ผลักดันงานวิจัย นวัตกรรมแมลงทหารเสือ เพื่ออุตสาหกรรม BCG
มช. จับมือ ซีพีเอฟ ผลักดันเศรษฐกิจยั่งยืน ต่อยอดโครงการนวัตกรรมน้ำมันสกัดจากแมลงทหารเสือเพื่อใช้เป็นสารสำคัญในเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นงานวิจัยแผนงาน SPEARHEAD ด้านเศรษฐกิจ ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สู่งานวิจัยนวัตกรรมแมลงทหารเสือเพื่ออุตสาหกรรม BCG โดยศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “งานวิจัยนวัตกรรมแมลงทหารเสือเพื่ออุตสาหกรรม BCG” เพื่อต่อยอดและขยายผลในเชิงพาณิชย์ด้าน Biowaste หรือ Circular Feed ซึ่งสอดรับกับ Model BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG) เป็นโมเดลที่ประเทศไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และซีพีเอฟ มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดความยั่งยืนตามแนวทาง SDGs
ปัจจุบันแมลงทหารเสือ หรือ Black soldier fly เป็นแมลงที่มีศักยภาพและกำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เล็งเห็นโอกาสและศึกษาแนวทางการเพิ่มประโยชน์จากแมลงทหารเสือในด้วยการบูรณาความร่วมมือจากนักวิจัยหลากหลายคณะ ทั้งด้านในการพัฒนาระบบการเลี้ยงประสิทธิภาพสูง และนำมาประยุกต์ใช้ทางด้านอาหารสัตว์ เครื่องสำอาง การพัฒนาการผลิตแมลงทหารเสือ ที่เหมาะสมต่อคุณภาพน้ำมันสกัด และการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เวชสำอางครบวงจรจากแมลงทหารเสือ
รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า “มช. และซีพีเอฟ มีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาอุตสาหกรรม BCG ซึ่งเป็นแนวคิดในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการผลิตอย่างยั่งยืน ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกรและชุมชน จึงเกิดความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น โดยซีพีเอฟสนับสนุนงบประมาณในการวิจัย และร่วมกันศึกษาเพื่อสร้างระบบต้นแบบการเลี้ยงหนอนแมลงทหารเสือแบบ Smart Farm ที่เหมาะสมสำหรับชุมชน เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปต่อยอดและสร้างอาชีพ โดยนำผลิตผลทางการเกษตรเหลือใช้มาสร้างมูลค่า ซึ่งจะเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและจะเป็นโมเดลในการเรียนรู้ของนักศึกษา เกษตรกร และชุมชนต่อไป”
ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัทมีความสนใจในการศึกษาแหล่งโปรตีนทางเลือกไม่ว่าจะเป็น Plant-based Protein, Cell-based Protein รวมไปถึง Insect-based Protein หรือโปรตีนจากกลุ่มของแมลง และได้พัฒนาอาหารสำหรับแมลงชนิดแรก คือ อาหารจิ้งหรีด เมื่อปี 2556 สำหรับแมลงทหารเสือ เครือซีพี ได้เริ่มวิจัยมาในปี 2559 ในการศึกษาถึงการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในหลายๆ ด้าน แมลงทหารเสือ เป็นคำตอบหนึ่งของการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนกับวัสดุชีวภาพในประเทศ ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปของโปรตีนหรือไขมัน แต่ต้องมีรูปแบบการเลี้ยงที่เหมาะสมทั้งทางด้านการลงทุน และการควบคุมแมลงให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ทั้งนี้ที่มาของการผลิตแมลงก็ต้องสามารถสอบย้อนกลับได้ มีผลผลิตที่ดี ทั้งในทางด้านการผลิตและทางด้านค่าโภชนะต่างๆ รวมไปถึงการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ยังสนใจที่จะศึกษาการเพิ่มมูลค่า การหาสารสำคัญที่มีประโยชน์ รวมถึงการทดสอบผลข้างเคียง เพื่อพัฒนาไปสู่ในระดับอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนต่อไป”
ที่มา: พิตอน คอมมิวนิเคชั่น