สภาดิจิทัลฯ ผนึกกำลัง สสอท. ร่วมลงนาม MOU เร่งเครื่องพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษากว่า 2 แสนคนทั่วประเทศ
สภาดิจิทัลฯ ผนึกกำลัง สสอท. ร่วมลงนาม MOU เร่งเครื่องพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษากว่า 2 แสนคนทั่วประเทศ พร้อมจับมือกับสถานประกอบการร่วมเป็นฐานแพลทฟอร์มสำคัญเปิดโอกาสให้นักศึกษาเรียนรู้ได้จากประสบการณ์จริง ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์พัฒนาคนรองรับตลาดแรงงานยุค 4.0 เสริมแกร่งให้ประเทศไทยเข้าสู่ Digital Economy อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.พรชัย มงคลวนิช นายกสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สภาดิจิทัลฯ และ สสอท. เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ เพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนด้านดิจิทัล และยกระดับความรู้ด้านดิจิทัล Upskill และ Reskill ให้กับนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด สสอท.ทั่วประเทศกว่า 200,000 คน ทั้งในระดับประกาศนียบัตร และปริญญา ครอบคลุมมหาวิทยาลัย 41 สถาบัน วิทยาลัย 17 สถาบัน และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ เพื่อรองรับตลาดดิจิทัลที่เปลี่ยนไปนำไปสู่ความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยในอนาคต
ดร.พรชัย มงคลวนิช นายกสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) เปิดเผยว่าการลงนามความร่วมมือกับสภาดิจิทัลฯครั้งนี้ ถือเป็นการเชื่อมโยงภาคการศึกษากับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงขึ้นที่ตอบสนองความต้องการภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และแข่งขันได้ในประชาคมโลกได้ในอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล การร่วมมือกับสภาดิจิทัลฯจะช่วยให้เกิดการยกระดับบัณฑิตไทยให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในด้านดิจิทัล และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยพร้อมก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 สอดคล้องกับความมุ่งหวังของ สสอท.ที่จะผลิตบัณฑิตรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและมีทักษะด้านดิจิทัลออกสู่ตลาดแรงงานในปัจจุบัน
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือในการลงนาม MOU ครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ของสภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรสำคัญที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน รัฐบาล และภาคประชาชน ที่มุ่งเน้นการ “พัฒนาคน” โดยต้องการส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาให้มีมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรองรับการพัฒนาด้าน “เศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ Digital Economy ให้กับประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายพันธกิจของสภาดิจิทัลฯที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
“ความร่วมมือระหว่างสภาดิจิทัลฯกับสสอท.ครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายการพัฒนานิสิตนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษากว่า 2 แสนคน จะเสริมสร้างศักยภาพให้ประเทศมหาศาล โดยเฉพาะการสร้างงานสร้างโอกาสในภาวะเศรษฐกิจยุคโควิด ที่นักศึกษาจบใหม่ต้องประสบปัญหาการว่างงานจำนวนมาก หากมีทักษะด้านดิจิทัล จะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานและผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามลำดับ เพราะทิศทางเศรษฐกิจนับจากนี้ จะขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างแท้จริง และจะมีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าน้ำมันต่อไปในอนาคต”ประธานสภาดิจิทัลฯกล่าว
ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า การผนึกกำลังร่วมกันครั้งนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านดิจิทัลในสาขาที่สอดคล้องกับแรงงานตลาด มาร่วมเป็นอาจารย์ในการเรียนการสอน รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของ สสอท. คณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญในสถานประกอบการ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ จากสภาดิจิทัลฯ ที่จะช่วยกันประเมินผลสัมฤทธิ์ในการจัดการการศึกษา โดยเน้นให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จริง รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนานวัตกรรมและแพลทฟอร์มใหม่ๆ ในการเรียนการสอนที่สภาดิจิทัลฯได้พัฒนาขึ้นมา ตลอดจนความร่วมมืออื่นๆ ที่ทั้งสององค์กรให้ความเห็นชอบร่วมกันในอนาคตอีกด้วย ขณะเดียวกันในอนาคตข้างหน้าสภาดิจิทัลฯจะเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยภาครัฐต่อไปอีกด้วยเพื่อให้เกิดการผลักดันยกระดับทักษะด้านดิจิทัลให้คนรุ่นใหม่ในทุกภาคส่วนเพื่อช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยต่อไป
ขอบเขตความร่วมมือมี 4 ด้าน สำคัญ คือ 1. ร่วมสร้างกำลังคนที่มีศักยภาพสูงและมีความรู้ ความสามารถด้านการใช้ระบบสารสนเทศดิจิทัล มีคุณลักษณะและสมรรถนะตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม 2.เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างบุคลากรของสถาบันสมาชิกของสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ ฯ และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย 3. เพื่อให้สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ ฯ และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย บูรณาการความร่วมมือในการจัดการการศึกษาเชิงบูรณาการระหว่างการเรียนรู้ในสถาบันกับการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการต่าง ๆ 4. เพื่อร่วมกันสร้างดิจิทัล Platform เพื่อรองรับการจ้างงานของบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัล และการพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลในลักษณะ Reskill/Upskill ที่จัดขึ้นโดยสถาบันการศึกษา สมาคม และหน่วยงานอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ให้สามารถต่อยอดเพื่อการพัฒนา Platform การเรียนรู้ร่วมกันในอนาคต
ที่มา: สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย