MBA Online @UTCC เรียนสนุก เน้นทำได้จริง ยุคนี้ ต้องเรียนออนไลน์
“มีลูกศิษย์ออนไลน์จบไปหลายปีแล้วไปเป็นผู้บริหารธนาคาร จากเดิมยังเป็นผู้จัดการอยู่เลย เขาก็เติบโต เขาบอกว่าเขามีผลงาน เขาได้กระบวนการคิดจากการเรียน และเติบโตในหน้าที่การงาน บางคนทำธุรกิจ ปรากฏว่ายอดขายสูงขึ้น เขาบอกว่าเขาไม่ได้เรียนมาทางบริหาร พอมาเรียนการตลาด เขารู้สึกว่าทำการตลาดแบบนี้ธุรกิจเขาโตขึ้นหลายเท่า เราก็เห็นความสำเร็จของเขา เป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจที่เราผลิตบุคลากรออกไป” ดร.ศุภสัณห์ ปรีดาวิภาต ผู้อำนวยการหลักสูตร MBA Online คณะวิทยพัฒน์ (Extention School) และรองคณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
หลักสูตรออนไลน์ที่ ดร.ศุภสัณห์กล่าวถึง คือหลักสูตร MBA Online ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยซึ่งเปิดสอนเป็นแห่งแรกของประเทศไทยเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตัวหลักสูตรนี้จึงมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องตามรูปแบบการเรียนการสอนและพฤติกรรมของผู้เรียนที่เปลี่ยนไป
ผู้อำนวยการหลักสูตรระบุว่า จุดแข็งของหลักสูตร MBA Online ของที่นี่คือ ด้านการค้าตามชื่อของมหาวิทยาลัย จากนโยบายของอธิการบดีและสภามหาวิทยาลัยที่ต้องการให้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยให้มีการผสมผสานการปฏิบัติเข้าไปในวิชาเรียนด้วย จึงเป็นแรงผลักดันให้อาจารย์ผู้สอนต้องไปรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในภาคธุรกิจ โดยอาจารย์ในหลักสูตร MBA Online เข้าไปเป็นที่ปรึกษาในธุรกิจของสมาชิกหอการค้าไทย ส่งผลให้อาจารย์เพิ่มพูนความรู้ในทางปฏิบัติ เพิ่มเติมจากความชำนาญทางด้านทฤษฎีที่มีอยู่เดิม
และการเปิดสอนผ่านช่องทางออนไลน์มาเป็นรายแรก ทำให้หลักสูตรนี้มีเวลาในการทดลองปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานในการเรียนการสอน คือตัวโปรแกรมบทเรียนหรือ Courseware ที่ใช้ ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีทีมงานจัดทำ Courseware ตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งทีมคิดเนื้อหา ทีมถ่ายทำ ตัดต่อ รวมถึงการดูแลระบบ ทำให้เกิดความคล่องตัวสามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบันได้
“เพราะผู้เรียนของเรารอไม่ได้ บางทีเขาอยากได้คำตอบ อาจารย์ตอบช้าสักชั่วโมงเขาหงุดหงิดแล้ว ฉะนั้นเราก็เน้นเรื่องระบบหลังบ้าน มีเจ้าหน้าที่ดูแลหลักสูตร เราตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา การเรียนของเราจะเน้นเป็นแบบโซเชียล ไม่ใช่ต่างคนต่างเรียน เราจะเรียนเป็นกลุ่มด้วย คือบางทีเขามีข้อสงสัยถามมาในกลุ่ม ถ้าอาจารย์ยังไม่ตอบก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยตามอาจารย์ คอยประสานงาน หรือนักศึกษาคนไหนพบปัญหาเรื่องบทเรียนอยากจะสอบถามข้อมูลนอกรอบ อย่างบางคนเอาไปพัฒนาเรื่องการทำงาน เราก็ติดต่อกับท่านอาจารย์พูดคุยกับนักศึกษา เพราะเราเน้นเรื่องการปฏิบัติ”
ดร.ศุภสัณห์ อธิบายต่อว่า ความสะดวกของการเรียนออนไลน์คือผู้เรียนสามารถเลือกเวลาและสถานที่ที่ต้องการได้ตามต้องการ และเมื่อทางคณะมีความสามารถในการพัฒนาเนื้อหาบทเรียนได้อย่างกว้างขวาง จึงสามารถผลิตเนื้อที่ตรงตามใจผู้เรียนได้มากขึ้น
“หนึ่งคือเป็นสตรีมมิ่ง ดูวิดีโอได้บางคนบอกว่าไม่อยากโหลดวิดีโอ เขาขับรถหรือขึ้นรถไฟฟ้า เขาจะฟังเสียงเราก็มีไฟล์เสียง บางคนชอบการอ่านก็มี e-Book ให้ มีหลายรูปแบบให้เขาเลือก แต่หลักสูตรพยายามปรับให้นักศึกษาเป็นผู้ปฏิบัติให้ได้ โดยกระบวนการสุดท้ายที่ทุกคนต้องเจอคือ IS (Independent Study) แต่ระหว่างทางเรามีสอดแทรกเข้าไปในทุกวิชาอยู่แล้ว เราจะมีแขกรับเชิญจากภาคธุรกิจ เราจะมีเคสมาถ่ายทอดให้ รวมถึงมีบททดสอบก่อนและหลังเรียนเพื่อดูว่าเขามีพัฒนาการเพิ่มขึ้นหรือไม่ นั่นคือกลไกที่เราพัฒนาขึ้นมา ถ้าผู้เรียนตั้งใจจริงผมเชื่อว่าหลักสูตรของเราตอบโจทย์แน่นอน สามารถนำไปปฏิบัติจริงไม่แพ้หลักสูตรออฟไลน์”
ปัจจุบันคณะวิทยพัฒน์ลงทุนพัฒนาระบบ Smart Classroom ที่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบไฮบริดได้ โดยสามารถถ่ายทอดสดการเรียนการสอนได้ทันที และมีเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ระบบการถ่ายทอดมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเห็นอิริยาบถของผู้เรียนในห้องเรียน รวมถึงสามารถนำไปทำเป็น Courseware ใช้สอนต่อไปได้ ระบบนี้จะทำให้ผู้เรียน MBA Online สามารถล็อกอินเข้าไปในระบบ LMS เพื่อกดลิงค์เรียนแบบสดได้อีกด้วย
และตามนโยบายที่อธิการบดีมอบหมายมาคือแนวการเรียนการสอนที่เรียกว่า PLEAN หรือ Play and Learn หลักสูตรจึงพัฒนาบทเรียนบางบทให้เป็นรูปแบบซีรีส์ ละคร ซึ่งแม้จะทำให้ต้องมีกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นแต่ก็สามารถดึงดูดความสนใจผู้เรียนได้มากขึ้นเช่นกัน
“สมมติว่าจะมีโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ เราก็ไปถ่ายทำ นักศึกษานั่งเรียนแล้วได้รับโจทย์ว่าคุณต้องไปคิดโมเดลรูปแบบใหม่ให้ได้ แล้วก็จะมีดราม่ารักกัน กิ๊กกัน ระหว่างนั้นมีการทะเลาะระหว่างเพื่อนบ้าง หลังจากนั้นเขาเริ่มคิดเป็นโมเดลธุรกิจออกมานำเสนอ รูปแบบก็จะเป็นทฤษฎีที่เราสอน ก็จะเห็นว่านักศึกษาได้นำไปใช้ในรูปแบบอย่างนี้ คนดูแล้วก็จะรู้สึกสนุกและซึมความรู้ไปโดยไม่รู้ตัว อาจารย์บางท่านก็ใช้เกมแบบจับฉลาก ไลฟ์สดไปแล้วก็จับฉลากขึ้นมา บางท่านใช้อุปกรณ์เสริม เป็นป้ายไฟอะไรอย่างนี้ บางท่านให้นักศึกษาทำสินค้าต้นแบบแล้วมานำเสนอผ่านออนไลน์ ก็เป็นเทคนิคของอาจารย์หลายๆ ท่าน แต่หลักสูตรพยายามควบคุมว่า ทำอย่างไรให้นักศึกษาได้ปฏิบัติจริง และเรียนแล้วต้องสนุก”
นอกจากนี้การที่มีหอการค้าไทยเป็นเจ้าของ ทำให้หลักสูตรสามารถขอความร่วมมือจากหอการค้าทั่วประเทศ ทั้งด้านการใช้สถานที่ การมีเครือข่ายนักธุรกิจทั่วประเทศที่สามารถเชิญมาเป็นอาจารย์พิเศษถ่ายทอดประสบการณ์จริงในการทำธุรกิจให้กับผู้เรียนได้
เบื้องหลังการพัฒนาหลักสูตร
ผู้อำนวยการหลักสูตร MBA Online ให้ข้อมูลว่า หลักสูตรนี้เหมาะกับผู้เรียนที่ต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ไม่มีเวลาเข้าเรียนเต็มเวลา โดยผู้เรียนจะได้เรียนรู้เนื้อหาทฤษฎี และกรณีศึกษาต่างๆ จากบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ที่หลักสูตรจัดเตรียมไว้ รวมถึงสามารถเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มสัมมนา ดูงานหรือฝึกงานภาคสนามเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้มีประสบการณ์ตรงในกิจกรรมต่างๆ ของหลักสูตร ทั้งนี้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามกลุ่มวิชาที่สนใจโดยปัจจุบันเปิดการเรียนการสอน ใน 6 กลุ่มวิชาประกอบด้วย
กลุ่มวิชาการจัดการ กลุ่มวิชาการตลาด กลุ่มวิชาการเงิน กลุ่มวิชาโลจิสติกส์ กลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจครอบครัว กลุ่มวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการเงิน
แต่กว่าจะลงตัวเช่นทุกวันนี้ ดร.ศุภสัณห์เล่าถึงเบื้องหลังการปรับปรุงหลักสูตรที่ทำมาโดยตลอดว่า ใช้หลักการ Design Thinking เพื่อค้นหาว่าผู้เรียนมีปัญหาอะไรจากการเรียนออนไลน์บ้าง โดยจากประสบการณ์ที่เปิดการเรียนการสอนมามากกว่า 10 ปีทำให้มีข้อมูลพอที่จะสรุปได้ว่า
“ไม่อยากเรียนยาวๆ นั่งเรียนไม่นานก็เริ่มเบื่อเริ่มไปทำอย่างอื่น เราก็พยายามตัดหลักสูตร ทำให้เนื้อหาสั้นลงเป็นหลายๆ ตอน หรือเราเห็นว่า บางคนอยากจะพูดคุยกับอาจารย์ ในเบื้องต้นเราทำเป็นลักษณะ e-Learning เป็นการบันทึกวิดีโอให้นักศึกษาไปดูได้ แต่ปัจจุบันเราก็เริ่มเป็นแบบมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น นักศึกษาสามารถมาแชตกับอาจารย์ได้ สามารถตั้งกระทู้พูดคุยกันได้ รวมถึงเราเข้าใจว่านักศึกษาบางครั้งไม่อยากจะไปตั้งกระทู้บนระบบ เราก็ใช้แอปพลิเคชันต่างๆ มาเสริม ไม่ว่าจะเป็นไลน์ เฟสบุ๊คเพราะเราเข้าใจว่าผู้เรียนแต่ละคนก็มีพฤติกรรมไม่เหมือนกัน เราก็ปรับของเราไปเรื่อยๆ”
ทางด้านเนื้อหาที่เปิดสอน ก็คัดเลือกองค์ความรู้ที่น่าสนใจ มาพัฒนาเพิ่มเติมในหลักสูตรอยู่ตลอดเวลา และเมื่อสร้างโปรแกรมบทเรียน หรือ Courseware มากขึ้น ทางคณะวิทยพัฒน์ก็เห็นโอกาสนำมาทำเป็นหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายวิชาได้รับความนิยมจากองค์กรธุรกิจภายนอก เช่น วิชา Digital Disruptive Business วิชา Design Thinking วิชา Digital Business Model Canvas และวิชา Digital Transformation เป็นต้น
คณะวิทยพัฒน์ Extention School
ดร.ศุภสัณห์กล่าวถึงคณะใหม่ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่า คณะวิทยพัฒน์ (Extention School) มีการพัฒนาหลักสูตรขึ้นมาหลายหลักสูตร และ MBA online เป็นหนึ่งในนั้น หลักสูตรล่าสุดที่คณะนี้พัฒนาขึ้นมาคือ BBA Online เป็นหลักสูตรปริญญาตรีแบบออนไลน์ นอกจากนี้ยังออกไปทำหลักสูตรให้กับหน่วยงานภายนอก ให้บริการวิชาการ รวมถึงร่วมพัฒนาหลักสูตรกับหน่วยงานต่างๆ
คณะวิทยพัฒน์จึงเป็นการรวบรวมเอาความรู้จากสาขาวิชาต่างๆ ที่เปิดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมาสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของยุคปัจจุบัน เช่นเมื่อมีความต้องการให้ทำหลักสูตรเกี่ยวกับ ฟินเทค ทางคณะก็จะขอความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์มาช่วยเรื่องเทคโนโลยีหรือหากมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางกฎหมายก็ขอความร่วมมือไปทางคณะนิติศาสตร์
แนวคิดการจัดตั้งคณะนี้เกิดจากการมองว่า ทุกสาขาวิชาต้องสามารถทำธุรกิจได้ แก่นวิชาทางด้านบริหารธุรกิจเป็นสิ่งที่ทุกคนควรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในแต่ละสาขาวิชาชีพ การใช้เครือข่ายวิชาการภายในมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ตอบสนองแนวคิดนี้ได้จึงเกิดมาเป็นคณะวิทยพัฒน์
นอกจากการจัดทำหลักสูตรทั้งระยะสั้นและระยะยาวแล้ว อีกด้านหนึ่งคณะวิทยพัฒน์ มองเห็นว่าสถาบันการศึกษาในประเทศหลายแห่งกำลังต้องการปรับตัวสู่ระบบออนไลน์ แต่ยังขาดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยสั่งสมมากกว่า 10 ปีแล้ว จึงเตรียมเปิดให้บริการจัดการการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ให้ในหลากหลายรูปแบบ เป็นการนำความชำนาญที่มีอยู่เข้าไปช่วยเหลือระบบการศึกษาในประเทศไทยอีกทางหนึ่ง
อนาคตการศึกษาออนไลน์
ดร.ศุภสัณห์ ให้ความเห็นว่า อนาคตการศึกษาออนไลน์จะพัฒนาไปตามเทคโนโลยีที่จะเอื้อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและความสะดวกเพิ่มขึ้น เช่นอาจจะมีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน การพัฒนารูปแบบการเรียนแบบสองทางที่ช่วยสร้างผลสัมฤทธิ์มากกว่าปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่จะทำให้การเรียนออนไลน์ในประเทศไทยประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้นได้นั่นคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เรียนชาวไทยที่ยังมีวินัยไม่เท่ากับผู้เรียนในต่างประเทศ ทั้งด้านการเข้าเรียน การเปิดกล้องถามตอบ การส่งรายงาน โดยปัจจัยที่จะช่วยให้พฤติกรรมการเรียนออนไลน์ในประเทศไทยเปลี่ยนแปลง ดร.ศุภสัณห์มองว่า เมื่อการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะและองค์ความรู้ใหม่ๆ เป็นเรื่องจำเป็นในตลาดแรงงาน การเรียนรู้โดยมีวินัยจะเพิ่มมากขึ้น ตลาดแรงงานจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันการศึกษาออนไลน์ในประเทศไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นในอนาคต
ในส่วนหลักสูตร MBA Online ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็เตรียมจะขยายไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยไปเปิดสอนหลักสูตรปกติในประเทศเมียนมาแล้วตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-เอก ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก หลักสูตร MBA Online จึงเตรียมตัวจะขยับไปต่างประเทศบ้างเช่นกัน โดยกำลังดูรูปแบบที่จะใช้ในการเรียนการสอน เช่น ผู้สอนสอนเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย มีคำแปลเป็นภาษาท้องถิ่นประเทศต่างๆ เช่นภาษาจีน เพราะเห็นจำนวนนักศึกษาจีนที่เข้ามาเรียนในประเทศไทย ทำให้เห็นว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและกำลังเติบโต
“ผมเชื่อว่าด้วยคุณภาพการศึกษา และบุคลากรของเราค่อนข้างพร้อม เราก็เล็งแล้วว่า จะขยายหลักสูตรไปนอกประเทศมากขึ้น courseware ของเราเป็นสากลอยู่แล้ว เพียงแต่ปรับเรื่องภาษาเท่านั้นเอง ความรู้ไม่หายไปไหน มีแต่คนหามากขึ้นด้วยซ้ำ เราสามารถปรับโมเดลการศึกษาไปรูปแบบใหม่ได้หรือไม่ เราโตไปต่างประเทศได้หรือไม่ คือเราพยายามจะมองหาโอกาสอยู่ตลอดเวลา” ดร.ศุภสัณห์กล่าว
ที่มา: มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย