ม.มหิดล ริเริ่มใช้ระบบ “MU-SCAN” ในแอปพลิเคชัน We Mahidol ตรวจสอบพื้นที่ปลอดภัย Covid-19
จากวิกฤติ Covid-19 ที่ผ่านมาได้ทำให้อาจารย์ผู้สอน และนักศึกษาผู้เรียนได้มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีออนไลน์กันมากขึ้น โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้ริเริ่มใช้ระบบ “MU-SCAN” ในแอปพลิเคชัน We Mahidol ซึ่งตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ที่อยู่ในวงจรชีวิต (life cycle) ของมหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า ที่ผ่านมา แอปพลิเคชัน We Mahidol ได้มีบทบาทอย่างครบวงจร โดยเป็น student journey สำหรับผู้ใช้ (user) ในทุกช่วงชีวิต ตั้งแต่ยังไม่เข้ามาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปดูข้อมูล Open House การรับสมัคร และรายละเอียดหลักสูตรของแต่ละคณะ/สถาบันเพื่อประกอบการตัดสินใจเข้าสมัครเรียน จนเมื่อได้เข้ามาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลก็สามารถใช้แอปพลิเคชัน We Mahidol เพื่อแสดง Virtual ID แทนบัตรประจำตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อแสดงตัวตนในการเข้ารับสิทธิประโยชน์ต่างๆของมหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ การรักษาพยาบาล การเข้าใช้บริการห้องสมุด ตลอดจนใช้เป็นส่วนลดอุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ ฯลฯ และเมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วก็สามารถเข้ามาใช้บริการในส่วนของAlumni หรือศิษย์เก่า ที่สามารถเข้ามา upskill – reskill ทักษะต่างๆ เพิ่มเติมผ่านระบบ MUx ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้จากแอปพลิเคชัน We Mahidol
นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการวางแผนเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของนักศึกษาและบุคลากรไว้เป็นอันดับหนึ่ง โดยได้มีการริเริ่มระบบ MU-SCAN ขึ้น โดยได้แนวคิดจากแอปพลิเคชันต่างๆ ของรัฐบาลที่ให้ประชาชนใช้ check in เพื่อเข้าใช้บริการตามสถานที่ต่างๆ ซึ่ง user สามารถเปิดแอปพลิเคชัน We Mahidol แล้วกดสแกน QR Code เพื่อ check in เข้าพื้นที่ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล โดยในแอปพลิเคชัน We Mahidol จะมีการบันทึกข้อมูลโดยอัตโนมัติว่านักศึกษารหัสใดเข้ามาในพื้นที่ โดยเป็นการแสดงข้อมูลภายในมหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้า user เป็นคนในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล หรือเป็นผู้ที่มีแอปพลิเคชัน We Mahidol อยู่แล้ว ระบบจะสามารถทราบทันทีว่า user เป็นใครเข้ามาในพื้นที่ ถ้า user เป็นบุคคลภายนอก ก็ยังสามารถใช้ได้โดยเปิดกล้องธรรมดาของโทรศัพท์มือถือสแกน QR Code และกรอกหมายเลขโทรศัพท์มือถือ โดยหากพบว่ามีผู้ป่วย Covid-19 อยู่ในพื้นที่ทางมหาวิทยาลัยมหิดลจะสามารถติดต่อเพื่อแจ้งกับ user ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับผู้ป่วยได้ทันที
MU-SCAN ยังมีระบบแจ้งเตือน ในกรณีที่ user ลืม check out ออกจากพื้นที่ โดยระบบจะทำการแจ้งเตือนเป็นรูปแบบ Notification ไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ที่เข้า check in ในพื้นที่ เพื่อสอบถามว่า user ยังอยู่ในพื้นที่หรือไม่ หากยังอยู่ในพื้นที่ user ก็ทำการกดยืนยัน หากไม่อยู่ในพื้นที่แล้ว ระบบจะ check out ให้อัตโนมัติ
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลยังนำระบบ MU-SCAN มาใช้ในการเรียนการสอนแบบผสมผสาน นั่นคือในกรณีที่รายวิชาใดเปิดการเรียนการสอนในห้อง และออนไลน์ไปพร้อมๆ กัน นักศึกษาสามารถตรวจสอบได้จากระบบ MU-SCAN ว่า ห้องเรียนที่เปิดสอนมีนักศึกษาเข้ามาเต็มความจุของห้องแล้วหรือยัง เพื่อช่วยในการตัดสินใจสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลว่าจะเข้าชั้นเรียนปกติ หรือเรียนออนไลน์โดยจำนวนผู้เข้าเรียนในแต่ละห้อง จะแสดงผลแบบเรียลไทม์ ตามจำนวนผู้ที่ check in
สำหรับในส่วนของการเรียนการสอนที่ทางมหาวิทยาลัยมหิดลมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าวยืนยันว่า ทางคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้คุณภาพของการสอนออนไลน์เทียบเท่ากับการสอนในชั้นเรียน โดยทั้งคณาจารย์และนักศึกษามีความจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่นี้ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมยืนหยัดและช่วยเหลือ ทั้งนักศึกษา และคณาจารย์ เพื่อผ่านพ้นวิกฤติ Covid-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล