มจธ.นำร่องหลักสูตร “DD-CT KMUTT” เสิร์ฟ สู่ตลาดงานยุคดิจิทัล
ท่ามกลางปัญหาด้านการศึกษาที่ปรับเปลี่ยนไปตามกระแสโลก การขับเคลื่อนหลักสูตรใหม่เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับนักศึกษาไทยในยุคดิจิทัล กับเทรนด์การทำงานของโลกในยุคใหม่ หรือ New Normal ที่เทคโนโลยีมีผลกับการใช้ชีวิตมากขึ้น เพราะในวันนี้หลักสูตรการเรียนการสอนแค่ในตำรา พบว่าไม่เพียงพอต่อเทรนด์การทำงานในยุคที่มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะงานด้านดิจิทัลคอนเทนท์ที่เป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงขึ้นทุกปี
รศ.ภาวดี สมภักดี ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต หลักสูตร DD-CT KMUTT (Digital Design and Creative Technology Program) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า เทรนด์การเรียนการสอนในปัจจุบันปรับเปลี่ยนไปมาก ดังนั้น มจธ.จึงมีหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อรองรับตลาดแรงงานที่หลากหลาย หลักสูตร DD-CT KMUTT เป็นหนึ่งในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตของวิทยาลัยสหวิทยาการ ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับนักศึกษาที่มีความรู้ ความสามารถและสนใจในด้านการศึกษาแบบเฉพาะทาง โดยมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีทักษะทั้งด้านวิจัย การออกแบบ และวางแผนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
“หลักสูตร DD และ CT มีการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีของ มจธ. เป็นหลักสูตรที่มีทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ที่ผนวกเข้าด้วยกัน โดยเริ่มต้นด้วยทฤษฎีพื้นฐาน ไปจนถึงหลักการที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถของผู้เรียน เช่น ในส่วนสาขาวิชาเอกเกม จะเริ่มจากการออกแบบฉากหรือสิ่งแวดล้อมในเกมแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ การเล่าเรื่องแบบสื่อสารสองทางและบทตัวละครในเกมที่สามารถโลดแล่นหรือมีความตระการตาเพื่อสร้างอารมณ์ร่วมระหว่างผู้เล่นและระบบเทคโนโลยี “
ในส่วนของหลักสูตรดิจิทัลดีไซน์ (DD) นั้น อาจารย์ตวง เธียรธนู ประธานหลักสูตรการออกแบบดิจิทัล กล่าวว่า ประกอบด้วย 2 วิชาเอกคือ วิชาเอก Game Design and Production เน้นการเรียนการออกแบบภาพรวมทั้งหมดของเกม เพื่อสร้างเกมที่ดีและเล่นสนุก สำหรับผู้ที่อยากจะทำงานเป็นดีไซเนอร์เกม นักออกแบบเกม หรือสถาปนิกของเกม และวิชาเอก Animation and Visual Effect เป็นสายงานด้านการออกแบบดิจิทัล (Digital Design) เกี่ยวกับการออกแบบตัวละคร เนื้อเรื่อง ฉาก องค์ประกอบในงาน แอนิเมชัน และเกม การสร้างโมเดลทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ ร่วมไปถึงการทำเอฟเฟ็กต์ต่างๆในหนังและภาพยนตร์
สำหรับหลักสูตรครีเอทีฟเทคโนโลยี (CT) นั้น รศ.ภาวดี สมภักดี ประธานหลักสูตรเทคโนโลยีแนวสร้างสรรค์ กล่าวว่า จะเป็นงานในสายวิทยาการคอมพิวเตอร์เน้นทางองค์ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ มี 2 วิชาเอกเช่นกัน คือ วิชาเอก Game Engineering กับ Interactive Simulation โดยเนื้อหาที่เรียนจะเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมกราฟิก การเขียนเกม และการดีไซน์เกม รวมถึงการทำแอนิเมชัน การเขียนโปรแกรมด้าน 3 มิติ เช่น งานจำลองสถานการณ์ต่างๆ ในรูปแบบ AR (Augmented reality) และ VR (Virtual reality) ที่มีการประยุกต์ใช้กับงานหลายสาขาอาชีพ ทั้งธุรกิจอุตสาหกรรม การแพทย์ การบันเทิง การสื่อสาร และการศึกษา นอกเหนือจากการเป็นนักพัฒนาเกม
คุณธนัช จิรวารศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการออกแบบดิจิทัลและเทคโนโลยี (DIDTC) หน่วยงานที่เป็นการรวมตัวกันของบริษัทด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในประเทศไทย และได้ร่วมพัฒนาหลักสูตรตั้งแต่ต้น กล่าวถึงหลักสูตรของที่นี่ว่า ทาง มจธ. ได้มีบันทึกความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีดิจิเพน (DigiPen Institute of Technology) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตบุคลากรด้านดิจิทัลคอนเทนต์ที่จัดตั้งโดย บริษัท นินเทนโด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเกมรายใหญ่ของโลก เพื่อมาสนับสนุนด้านหลักสูตร และจัดหาบุคคลภายนอกมาร่วมสอนและถ่ายทอดประสบการณ์แก่นักศึกษา
“การได้สถาบัน DigiPen และ DIDTC เข้ามาช่วย ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในเนื้อหาสอดคล้องกับความเป็นไปของธุรกิจจริงๆ ทั้งในประเทศและระดับโลกอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังทำให้นักศึกษาที่ขึ้นปี 3 สามารถเลือกที่จะไปศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีดิจิเพน อีก 2 ปี จบแล้วจะได้รับปริญญา 2 ใบ ทั้งจาก มจธ. และจากสถาบันเทคโนโลยีดิจิเพน”
ด้าน ผศ. ดร.พงศกรณ์ วิจิตเวชไพศาล รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนว่า เนื่องจากงานด้านดิจิทัลคอนเทนต์ ต้องการผู้มีทักษะความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และด้านศิลปะ ดังนั้นหลักสูตรของที่นี่ จึงเน้นกระบวนการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ในรูปแบบการใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) และใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) เพื่อผู้เรียนได้เรียนรู้ทฤษฎีและการปฏิบัติ”
“เนื้อหาที่สอนในหลักสูตรนี้จะเป็นวิชาเฉพาะทาง ซึ่งปกติจะหาเรียนได้ยากในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นหลักสูตรต่างประเทศที่เน้นสอนทฤษฎี และประเมินวัดผลโดยการสอบ แต่สำหรับหลักสูตรของ มจธ. จะเน้นภาคปฏิบัติ ที่ต้องเรียนรู้และทำงานร่วมกันแม้จะอยู่คนละหลักสูตร เพื่อให้นักศึกษา ได้เข้าใจวิธีการทำงาน เห็นสภาพของความเป็นจริงในการทำงานในอุตสาหกรรมว่า แต่ละสาขามีความเชี่ยวชาญกันคนละแบบ และสามารถผสมผสานกันได้ โดยนักศึกษาจะมีโปรเจคทำงานร่วมกันตั้งแต่ปีที่ 1”
ผู้อำนวยการหลักสูตร DD-CT KMUTT กล่าวย้ำว่า หลักสูตรของ Digital Design and Creative Technology Program เป็นการเน้นกระบวนการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เพื่อเปิดโลกทัศน์และสร้างทักษะให้แก่ผู้เรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ภายใต้เนื้อหาที่ครอบคลุมกระบวนการทำงานด้านการออกแบบดิจิทัลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสู่วงการดิจิทัลดีไซน์ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย
ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี