หัวลำโพงศตวรรษใหม่ แหล่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชื่อมวัฒนธรรมกับการค้า จุฬาฯ นำวิจัยแบบมีส่วนร่วม

หัวลำโพงศตวรรษใหม่ แหล่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชื่อมวัฒนธรรมกับการค้า จุฬาฯ นำวิจัยแบบมีส่วนร่วม

อาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯร่วมมือนักวิชาการจาก 4 สถาบันการศึกษา วิจัยอนาคต”หัวลำโพง” พลิกโฉมสู่พื้นที่สร้างสรรค์ อนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เชื่อมโยงย่านเมืองเก่าและย่านการค้าใหม่ หลังย้ายศูนย์กลางการคมนาคมทางรถไฟไปที่สถานีกลางบางซื่อภายในปีนี้

“หัวลำโพง” หรือสถานีรถไฟกรุงเทพ เป็นสัญลักษณ์ที่อยู่คู่กรุงเทพมหานครมายาวนานกว่า 105 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการวางรากฐานการคมนาคมในสยามประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 แต่นับจากนี้ หัวลำโพงต้องเปลี่ยนรางสู่บทบาทใหม่ เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วางแผนย้ายการให้บริการเส้นทางรถไฟเกือบทั้งหมดไปที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญกับโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของหัวลำโพงจะเป็นเช่นไร? การรถไฟแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันอาศรมศิลป์ ดำเนินการวิจัยเพื่อหาทิศทางอนาคตของหัวลำโพงในศตวรรษใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฟื่องอรุณ ปรีดีดิลก ประธานสาขาวิชาพัฒนศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการแผนงานการศึกษาเพื่อวางกรอบ ” โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)” กล่าวว่าแผนการศึกษาโครงการนี้เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563โดยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ระยะ เน้นวิจัยคุณค่าเชิงอนุรักษ์และนำเสนอแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่ ทั้งนี้กระบวนการวิจัยเปิดให้หลายภาคส่วนของสังคมมาร่วมกันกำหนดทิศทางอนาคตของหัวลำโพงด้วย

“การวิจัยครั้งนี้ประชาชนเป็นทั้ง “ผู้ร่วมคิด” คือมีส่วนร่วมในการออกแบบในฐานะ”ผู้ใช้ประโยชน์” เพราะทุกคนสามารถมาใช้ประโยชน์ได้ และเป็น”ผู้รับผิดชอบ” คือเมื่อใช้ประโยชน์แล้วต้องช่วยกันรักษสมบัติของคนไทยทุกคน จากการวิจัยครั้งนี้ ชัดเจนว่าประชาชนเห็น “สถานีรถไฟหัวลำโพง” เป็นของคนไทยทุกคน” ผศ.ดร.เฟื่องอรุณ กล่าว

“สถานีหัวลำโพง” ชุมทางเชื่อมคุณค่าเดิมกับเศรษฐกิจใหม่

ผศ.ดร.เฟื่องอรุณ เผยผลการวิจัยในระยะที่ 1 ซึ่งเน้นศึกษามิติคุณค่าเชิงอัตลักษณ์และความต้องการทางสังคมเบื้องต้นว่า “แนวทางการพัฒนาต้องทำให้หัวลำโพงเป็นพื้นที่ที่พึ่งพาตนเองได้ทางเศรษฐกิจและเป็นจุดเชื่อมโยงกับย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ เช่น เยาวราช วงเวียน 22 กรกฎาคม ตลาดน้อย ฯลฯ และย่านการค้าใหม่บนถนนพระราม 4” มี ผศ.ธิป ศรีสกุลไชยรัก สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นหัวหน้าโครงการ

ผลการวิจัยจากโครงการสอดคล้องกับแนวคิดของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ได้วางแผนลงทุนพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงจำนวน 121 ไร่ ให้เป็น “บ้านรถไฟ” โดยจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟและวางโครงการพื้นที่เชิงอนุรักษ์ในเส้นทางเลียบทางรถไฟในลักษณะการสร้างพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นและพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตลอดจนบูรณาการร่วมกับพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในเขตเมืองเก่า

แนวทางแปลง”หัวลำโพง” ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งอนาคต

จากแนวทางพัฒนาสถานีรถไฟหัวลำโพงที่ได้จากการวิจัยระยะที่ 1 ต่อยอดสู่การค้นหาลักษณะการใช้ประโยชน์ของอาคารและพื้นที่ภายนอกหัวลำโพงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และพื้นที่สาธารณะที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งนี้ แผนการศึกษาในระยะที่ 2 ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย

  1. การศึกษาเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ได้ข้อเสนอลักษณะการใช้งานและประโยชน์ของพื้นที่และอาคารต่างๆ 3 รูปแบบคือ

แบบที่ 1 สัดส่วนของพื้นที่ที่ใช้เป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เชิงพาณิชย์มากที่สุด มีสัดส่วนเท่ากันคือร้อยละ 30

แบบที่ 2 สัดส่วนของพื้นที่ที่ใช้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 30 รองลงมาคือ    ลานกิจกรรม พื้นที่สร้างสรรค์ และพื้นที่อนุรักษ์ ในสัดส่วนเท่าๆ กันคือร้อยละ 18

แบบที่ 3 สัดส่วนของพื้นที่ที่ใช้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 40 รองลงมาคือลานกิจกรรมและพื้นที่อนุรักษ์ในสัดส่วนเท่าๆ กันคือร้อยละ 18

  1. การศึกษารูปแบบการบริหารจัดการด้านการลงทุนและความเป็นไปได้ทางการเงินเพื่อรองรับการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพพื้นที่หัวลำโพงโดยผศ.ดร.เฟื่องอรุณ ขยายความว่า “เมื่อพิจารณาลักษณะการใช้งานและประโยชน์ของพื้นที่และอาคารต่างๆ พบว่าทั้ง 3 แบบ (ตามผลการศึกษาวิจัยในส่วนที่ 1) เป็นทางเลือกที่คนในสังคมยอมรับได้ แต่อาจจะต้องมีการชดเชยในสิ่งที่คนในสังคมสูญเสียไป เช่น บางคนอาจไม่รู้สึกว่าได้รับประโยชน์จากการใช้พื้นที่เป็นศูนย์การค้า”
  2. การศึกษาระบบโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่หัวลำโพงแบ่งเป็น 2 ส่วนย่อย คือ ระบบเชื่อมโยงพื้นที่ภายในสถานีรถไฟหัวลำโพง และระบบโลจิสติกส์จากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปยังสถานที่ต่าง ๆ ด้วยรูปแบบการเดินทางที่หลากหลาย อาทิ รถประจำทาง รถแท็กซี่ รถไฟฟ้า BTS และ MRT และเรือ โดยมีสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นจุดศูนย์กลางหรือจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ การศึกษายังได้นำเสนอตัวอย่าง 4 เส้นทางท่องเที่ยวหัวลำโพงและชุมชนใกล้เคียง (Virtual Tour) https://hlpvirtualtour.com

ภาคส่วนสังคมหลากหลาย ร่วมวาดฝันหัวลำโพง

การวิจัยระยะที่ 2 ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพและปริมาณโดยรูปแบบผสานวิธี (Mixed Methods Research) เน้นการสื่อสารสู่สาธารณะเพื่อสร้างการรับรู้ในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงและเกิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กลุ่มผู้ที่อาศัยบริเวณพื้นที่หัวลำโพง บุคลากรที่ปฏิบัติงานในหัวลำโพง ผู้ที่ใช้บริการที่หัวลำโพง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาปนิก นักอนุรักษ์ เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ภาคประชาสังคม รวมถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ” ผศ.ดร.เฟื่องอรุณอธิบาย

รูปแบบของกระบวนการวิจัยมีทั้งการสำรวจ การสัมภาษณ์การจัดกิจกรรมต่างๆ และการสื่อสารและรับฟังความเห็นผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ Facebook Fanpage โครงการวิจัยอนุรักษ์และพัฒนาสถานีรถไฟกรุงเทพ-หัวลำโพงกิจกรรม Community Walk การเสวนาวิชาการ การจัดเวทีสาธารณะโดยร่วมกับสื่อสาธารณะ เช่น Thai PBS The Active และ The Cloud นอกจากนี้ได้ทำการสนทนากลุ่มย่อยของผู้แทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การสำรวจความคิดเห็นผ่าน Google Form การสื่อสารผ่านสื่อสาธารณะและสถานีวิทยุจุฬาฯ การนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยว “หัวลำโพงและชุมชนใกล้เคียง”(HuaLamphong Virtual Tour) และการจัดนิทรรศการออนไลน์สรุปผลการวิจัยของแผนงานและโครงการย่อยทั้งสามโครงการ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าชมกว่า 900 คน

ผศ.ดร.เฟื่องอรุณเผยถึงความท้าทายในการวิจัยครั้งนี้ว่า “การศึกษาวิจัยนี้เป็นการบูรณาการระหว่างศาสตร์สาขาต่างๆ ทั้งสถาปัตยกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์รวมทั้งเป็นการวิจัยที่ศึกษาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องมีการปรับรูปแบบการเก็บข้อมูลและการทำงานหลายด้านให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ในขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์การวิจัยให้ครบถ้วน”

สุดท้าย ผศ.ดร.เฟื่องอรุณแนะว่าผลการวิจัยจากโครงการนี้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หลายมิติ

“การรถไฟแห่งประเทศไทยและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และเป็นกรอบในการประกวดแบบการพัฒนาหัวลำโพงคน กลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวลำโพงจะเกิดความเข้าใจและรับรู้ถึงคุณค่าของการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพงซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย”

นอกจากนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย นักลงทุน นักธุรกิจ ผู้ประกอบการในพื้นที่ และเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมกรุงเทพฯ สามารถนำผลการวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบการบริหารจัดการด้านการลงทุนและความเป็นไปได้ทางการเงินไปใช้เป็นแนวทางในการร่วมลงทุนในพื้นที่หัวลำโพง ทั้งการลงทุนในการจัดการท่องเที่ยวและการประกอบการเชิงสร้างสรรค์รวมถึงคนในชุมชนรอบสถานีรถไฟหัวลำโพงสามารถนำผลการวิจัยไปขับเคลื่อนเป็นแนวทางการพัฒนาชุมชนรอบสถานีรถไฟหัวลำโพงได้อีกด้วย

ผู้สนใจสามารถเข้าชมเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ได้ตามลิงก์ต่อไปนี้

นิทรรศการ “หัวลำโพงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน”

Exhibition

เนื้อหาในนิทรรศการ ประกอบด้วย

1) เรื่องราวความเป็นมาของสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)

 https://hlpvirtualtour.com/exhibition-1/

2) ผลการศึกษา: กรอบการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)

Exhibition 2

3) เวทีสาธารณะ ความคิดเห็นต่อการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)

Exhibition 3

4) ผลการประกวดการออกแบบ “การอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)

Exhibition 4

5) virtual  tour เส้นทางท่องเที่ยวหัวลำโพงและชุมชนใกล้เคียง

หน้าแรก

 

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ