เรียนยุคโควิดสไตล์ “สตูล” ดึงโจทย์ชีวิตสร้างการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ
เกือบ 2 ปีแล้วที่สถานที่เรียนเปลี่ยนไปอยู่ที่บ้าน โมเดลการจัดการเรียนรู้ใหม่เกิดขึ้นมากมาย ตามสไตล์ของแต่ละโรงเรียนเพื่อให้ลูกศิษย์ยังคงได้เรียนรู้ตามมาตรฐาน และหวังให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นแก่นการศึกษา “ฐานสมรรถนะ” ผลักดันการศึกษาไทยให้ก้าวไปพร้อมนานาประเทศ
ในการเสวนาออนไลน์ “ล็อกดาวน์” ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 บทเรียน “ครูสามเส้า” กรณีศึกษาเครือข่ายโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา จัดโดยคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมกับสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อนำเสนอแนวทางจัดการเรียนรู้ ซึ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้และสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ เป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่นๆ นำไปปรับใช้อย่างสอดคล้องกับพื้นที่และสถานการณ์ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยเครือข่ายที่เป็นตัวอย่างกรณีศึกษาและมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านเขาจีนและโรงเรียนอนุบาลสตูล
นายสุทธิ สายสุนีย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล และ คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล กล่าวตอนหนึ่งว่า ในวันที่ฐานการเรียนรู้ย้ายจากโรงเรียนไปที่บ้าน การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนเริ่มที่โรงเรียนอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ผู้ปกครองและชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมสร้างการเรียนรู้ให้เป็นหนึ่งเดียว หลักสูตร “ครูสามเส้า” เกิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่า ครูเพียงคนเดียวไม่สามารถทำให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจาก ครูในโรงเรียน ครูพ่อแม่ และครูในชุมชน เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้อยู่ในวิถีของเด็ก ประเด็นสำคัญ คือ คนในพื้นที่ควรรู้จักตัวเองก่อนไปเรียนรู้สิ่งอื่น และโรงเรียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา เป็นกลไกการจัดการหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบการศึกษาต่อไป
จากสถานการณ์นี้พอเด็กมาโรงเรียนไม่ได้ การที่ผู้ปกครองและทุกภาคส่วนลุกขึ้นร่วมทำตรงนี้ เราเห็นพลังที่เป็นโอกาสไปสู่สิ่งที่เรากำลังขับเคลื่อนไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่ง”สมรรถนะ”จริง ๆ เกิดได้ที่ที่บ้าน ที่ครอบครัว ในสถานการณ์จริง ไม่ใช่สถานการณ์จำลองในโรงเรียน การเรียนรู้ที่เอาชีวิตเป็นฐาน “พื้นที่การเรียนรู้ = พื้นที่ชีวิต” แล้วไปออกแบบการเรียนรู้
“ที่ผ่านมาการศึกษาทำลายศักยภาพของเด็กมามากแล้ว จากการเอาความแตกต่างของเด็ก ๆ มาทำให้เป็นความเหมือน เราฝากการศึกษาไว้กับเวลา 11% ในโรงเรียน ทั้งที่สาระชีวิตเป็นสาระที่ทิ้งไม่ได้ เอาชีวิตมาเป็นตัวตั้งแล้วออกแบบการเรียนจากตรงนั้น เด็กคนหนึ่งไปอยู่ที่ไหนบทบาทของตัวเองก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ อยู่บ้านเป็นลูก อยู่โรงเรียนเป็นนักเรียน ขึ้นรถโดยสารก็เป็นผู้โดยสาร ไปตลาดก็เป็นผู้จ่ายตลาด เด็กควรรู้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ถูกที่ถูกทาง บทบาทของโรงเรียนเปลี่ยนไปแล้ว โรงเรียนควรเป็นที่ปรึกษา ร่วมออกแบบการเรียนรู้กับครอบครัวและชุมชน จะไปจัดการเองทั้งหมดไม่ได้อีกแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร เมื่อมีตัวตน มีพื้นที่ มีกิจกรรม การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา” สุทธิ กล่าว
“นาฬิกาชีวิตกับโครงงานฐานวิจัย” เปลี่ยน “ตารางสอน” เป็น “ตารางชีวิต” การปรับตัวของโรงเรียนอนุบาลสตูล นายยงยุทธ ยืนยง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนแบบเดิมก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงเรียนสอนวิชาพื้นฐานในตอนเช้า ส่วนช่วงบ่ายเป็นวิชาบูรณาการใช้โครงงานวิจัยเป็นฐานเปิดโอกาสให้ผู้เรียนลงพื้นที่ชุมชน เพื่อศึกษา เก็บข้อมูลและลงมือทำกิจกรรมที่ผู้เรียนแต่ละชั้นสนใจ เมื่อต้องปรับเปลี่ยนมาสอนออนไลน์ ในช่วงแรก ผู้เรียนได้เพียงความรู้แต่ไม่ได้พัฒนาทักษะและเจตคติ ผลตอบรับจากผู้ปกครองมีทั้งความเครียด กังวล จากการขาดแคลนเครื่องมือ ไม่มีเวลา กำกับควบคุมลูกไม่ได้ และสอนลูกไม่ได้ นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียนใช้เวลาอยู่หน้าจอนานเกินไป และมีการบ้านเยอะจนไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้
จากอุปสรรคที่เกิดขึ้นโรงเรียนอนุบาลสตูลได้ออกแบบ “นาฬิกาชีวิต” ตารางกิจวัตรประจำวันของนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยฝึกทักษะการจัดการตนเอง (self-regulation) ในช่วงเรียนรู้จากที่บ้าน กระบวนการเรียนรู้นี้ให้บทบาทผู้เรียนวิเคราะห์กิจวัตรประจำวันของตัวเอง ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน และวิเคราะห์กิจวัตรประจำวันของผู้ปกครอง เพื่อให้เข้าใจด้วยตัวเองว่าในแต่ละช่วงเวลาของวัน ผู้ปกครองทำอะไรและตนเองทำอะไรบ้าง ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้นักเรียนแต่ละคนมีตารางนาฬิกาชีวิตเป็นของตนเอง ซึ่งไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน
ครูนัฐญา ไหมฉิม ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กล่าวว่า ครูเรียนรู้และทำความรู้จักนักเรียนผ่านนาฬิกาชีวิตของแต่ละคน แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาช่วยออกแบบโครงงานฐานวิจัยร่วมกับนักเรียนและผู้ปกครอง จากเดิมในสถานการณ์ปกติจัดการเรียนรู้แบบโครงงานฐานวิจัย 1 โจทย์วิจัยต่อ 1 ห้องเรียน ปัจจุบันการตั้งโจทย์ขึ้นอยู่กับนาฬิกาชีวิตและบริบทแวดล้อม นักเรียนสามารถเรียนคนเดียว เรียนกับพี่น้อง เรียนกับเพื่อนข้างบ้าน หรือเรียนกับเพื่อนต่างโรงเรียนได้ ทำให้เกิดโจทย์โครงงานฐานวิจัยหลากหลาย เช่น การเลี้ยงปลากัด การปลูกผักปลอดสารพิษ การฝังเข็ม การเลี้ยงวัวบ้าน กาแฟโบราณสตูล ขนมโบราณสูตรคุณยาย และการปลูกต้นไม้ เป็นต้น
“โจทย์เป็นแค่สื่อการเรียนการสอน เป้าหมายที่เราต้องการ คือ การสร้างความรู้ ทักษะ และวิธีคิดของนักเรียน โรงเรียนจัดประชุมผู้ปกครองสร้างความเข้าใจให้เดินไปด้วยกัน ชวนคิด ชวนทำ ปรับบทบาทของผู้ปกครองเป็นการทะลายกำแพงห้องเรียน ยกตัวอย่างโจทย์ปลากัด เป็นโจทย์บนฐานครอบครัวที่นักเรียนได้ร่วมปฏิบัติซึ่งมี 6 ครอบครัวมาเรียนด้วยกัน เด็กดึงผู้ปกครอง เพื่อนที่เลี้ยงปลากัด น้องที่เรียนโรงเรียนเดียวกัน และเพื่อนต่างโรงเรียนเข้ามาเรียนรู้ ช่วยกันคิดว่าประเด็นไหนเกี่ยวกับปลากัดที่รู้แล้ว ประเด็นที่ยังไม่รู้ และเรื่องที่อยากพัฒนา จนได้โจทย์ออกมาว่าจะผสมพันธุ์ปลากัดอย่างไรให้มีสีสวยงาม ขายได้ราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาด” ครูณัฐญา กล่าว
นาฬิกาชีวิตช่วยให้เด็กจัดการตนเอง พลิกอำนาจบริหารจัดการการเรียนไปสู่ผู้เรียน จากที่นักเรียนเคยถูกจัดการผ่าน “ตารางสอน” ในโรงเรียนและพ่อแม่ก็ยอมให้โรงเรียนจัดการ เปลี่ยนเป็น “ตารางชีวิต” ที่พ่อแม่มีส่วนร่วมจัดการและนักเรียนเป็นผู้ออกแบบเอง กระบวนการที่เกิดขึ้นจึงเป็นการเรียนรู้เหมือนไม่ได้เรียนผ่านชีวิตจริง
นางพัชรี ทองชู แม่ของนักเรียน ป.6 กล่าวว่า แม้จะยุ่งกับการขายข้าวแกงทุกวัน แต่ยินดีช่วยการเรียนรู้ของลูก คอยถามลูกตลอด ให้ความรู้เท่าที่ตนเองจะมี หรือแนะนำให้ลูกไปถามผู้รู้ ทำเพื่อลูกไม่รู้สึกเป็นภาระ ดีใจด้วยซ้ำเพราะแม้ลูกจะเรียนอยู่บ้าน การทำงานโครงงานเลี้ยงปลากัด เห็นลูกตั้งใจ หาความรู้ และมุ่งมั่น ไปหาปลากัดกับเพื่อน ๆ มาเลี้ยงมาดูแล มาผสมพันธุ์ เฝ้าดูการเติบโต รู้วิธีการเลี้ยง การผสมพันธุ์ รู้ว่าปลากัดแบบไหนที่จะขายได้ราคาดี คิดจะทำเป็นอาชีพด้วย ภูมิใจ ลูกมีความรับผิดชอบมากขึ้น และเกิดความรู้ติดตัวไปใช้ได้จริง ๆ
นายเสรี มากแสง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาจีน กล่าวถึงการปรับตัวของโรงเรียนบ้านเขาจีน กับการแก้ปัญหาเรื่อง “ใบงานเยอะเกินไป” “เด็กเรียน 8 สาระวิชา ต้องมี 8 ใบงานเลยหรือ?”,
ใบงานเด็กเยอะเกินไป…ทำยังไงดี? และค้นพบวิธีบูรณาการใบงานรวมหลายสาระวิชาเข้าด้วยกัน เด็กได้เรียนรู้และไม่เพิ่มภาระพ่อแม่ ผู้ปกครอง แนวทางนี้มาจากคณะครูในโรงเรียนได้ตั้งวงแลกเปลี่ยน (PLC) เพื่อระดมความคิดและวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ แม้มีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดแล้ว การจัดการเรียนตามรายสาระวิชา สร้างความตึงเครียดในบรรยากาศการเรียน เด็กเครียดทำงานไม่ทัน ผู้ปกครองเครียดเพราะภาระงานเยอะ และไม่รู้จะสอนเด็กอย่างไร ครูเครียดที่เด็กไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงนำมาสู่การรื้อรูปแบบการสอนใหม่ เกิดเป็น “ใบงานบูรณาการ ระหว่างกลุ่มสาระวิชา” ขึ้นมาในที่สุด
ใบงานบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระวิชา ตั้งโจทย์คำถามผ่านการวางเงื่อนไขสถานการณ์ที่ทำให้เด็กลุกขึ้นมาเก็บข้อมูล เก็บประสบการณ์ สร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานกับผู้ปกครองจากเหตุการณ์จริง เช่น สถานการณ์โควิด-19 งานบ้าน งานสวน หรือเป็นงานอาชีพที่ผู้ปกครองทำอยู่
ครูอาอีฉ๊ะ เปรมใจ ครูประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ยกตัวอย่างใบงานบูรณาการ ที่หยิบสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดสตูลตลอด 1 สัปดาห์มาเป็นโจทย์การเรียนรู้ เชื่อมโยงกับสาระวิชาคณิตศาสตร์ การงาน ภาษาอังกฤษและสังคม คำถามแต่ละข้อสัมพันธ์กับสาระวิชาต่างกัน นอกจากนี้ยัง เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ร่วมสนทนากับผู้ปกครอง เรื่องผลกระทบหรือโอกาสที่ครอบครัวได้รับจากสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น
“โจทย์ของครูในตอนแรกแค่อยากแก้ไขใบงานให้มีคุณภาพ ไม่น่าเบื่อ เพราะเห็นว่าเด็กใช้เวลาอยู่กับบ้านมาก ยิ่งในวัยรุ่นเป็นวัยที่ใช้เวลาอยู่กับตัวเองเยอะ แต่อาจลืมบทบาทของตัวเองไป ใบงานที่ออกแบบทำให้เด็กรู้สถานการณ์รอบตัว รู้ว่าแต่ละวันผู้ปกครองทำอะไร แบบไหน แล้วได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไร เมื่อได้รับข้อมูลเพิ่มขึ้น เด็กตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของตัวเอง เป้าหมายแฝงของใบงานต้องการให้เด็กสื่อสารความคิด ทัศนคติของตัวเองต่อเรื่องนั้น และเมื่อได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากการค้นคว้า จากการสอบถามผู้ปกครองหรือจากการลงมือช่วยงานผู้ปกครอง เด็กมีความคิด ทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และปรับตัวอย่างไร”
“น้องออน” นักเรียน ม.3 ลูกสาวของแม่ค้าขนมจีนที่มีพี่น้อง 6 คน สะท้อนว่า กรณีใบงานโควิด-19 ได้เรียนรู้ว่าเราอยู่ร่วมกับคนติดโควิดไม่ควรรังเกียจ หรืออคติ เพราะเมื่อเขาไปรักษาจนหายก็อยู่ร่วมกันได้ในชุมชน เราแค่ระมัดระวัง ใส่หน้ากากป้องกันเป็นปกติ ใบงาน “โจทย์ชีวิต” ทำให้ได้มีเวลาช่วยงานแม่และเข้าใจแม่มากขึ้น ได้รู้ว่าในแต่ละวันแม่ต้องทำอะไรบ้าง เหนื่อยแค่ไหน จากเดิมที่คิดว่าเป็นเด็กมีหน้าที่ “เรียนหนังสือ” ตอนนี้เข้าใจแม่มากขึ้นไม่ “ขอ”อะไรที่ไม่จำเป็น รู้สึกตัวเองมีความรับผิดชอบมากขึ้น แต่ก็ยังอยากไปเรียนที่โรงเรียนมากกว่าเรียนออนไลน์
ดร.สิริกร มณีรินทร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) กล่าวว่า ตัวอย่าง 2 โรงเรียนที่เห็นวันนี้ ปลายทางของการเรียนรู้คือนักเรียนเกิดความรู้และทักษะ หลากหลายด้าน สอดคล้องกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จะเป็นตัวช่วยการพัฒนาผู้เรียนบนฐานการใช้ชีวิต ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นเวลาร่วม 13 ปีที่ประเทศไทยใช้หลักสูตรการศึกษาเดิม ขณะที่ประเทศอื่นทั่วทุกมุมโลกปรับเปลี่ยนหลักสูตรนำฐานสมรรถนะมาพัฒนาผู้เรียนให้ก้าวทันโลกที่มีความรู้หลากหลาย เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความซับซ้อนมากขึ้น เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและยากจะคาดเดา ข้อเท็จจริง จากการสำรวจพบว่า สถิติการว่างงานสูงขึ้น ในภาคธุรกิจเด็กจบการศึกษาแล้วทำงานไม่เป็น อยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ เพราะขาดการฝึกคิด ฝึกวิเคราะห์ ฝึกทำ หลักสูตรฐานสมรรถนะจึงเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาเชิงนโยบายที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาผลักดันมาตั้งแต่ปี 2562
การศึกษาควรพัฒนาผู้เรียนให้มีเครื่องมือเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อปรับใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ใช้ดำรงชีวิตและทำงานได้ หลักสูตรสมรรถนะเน้นสิ่งที่ผู้เรียนควรเรียนรู้ ให้ทำเป็น มีพฤติกรรมทางอารมณ์เหมาะสม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำให้การเรียนรู้มีความหมายและมีคุณค่าบนความเป็นจริง
“หลักสูตรฐานสมรรถนะไม่ใช่ปีศาจแต่เป็นผู้ช่วยให้เกิดการออกแบบการเรียนรู้ ตัวอย่างจากโรงเรียนในวันนี้ เราเห็นวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (PLC) เกิดขึ้นที่บ้านระหว่างครูและผู้ปกครอง รวมถึงชุมชน ให้เด็กเป็นผู้จัดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ถ้ายึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ดูว่าเขาถนัดอะไร มีศักยภาพมีความสนใจเรื่องอะไร ข้อจำกัดจะกลายเป็นข้อเด่นได้ หลักสูตรสมรรถนะมีความยืดหยุ่น เราปลดล็อกสิ่งที่รัดตรึงครูในอดีต ปลดล็อกตัวชี้วัดมากมาย วันนี้หลายโรงเรียนได้ใช้โควิด-19 แปรวิกฤติเป็นโอกาส ได้ upskill ของผู้ที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาทั่วประเทศ โดยเฉพาะทักษะทางดิจิทัล สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้โดยมุ่งที่เด็กอย่างแท้จริง” ดร.สิริกร กล่าว
ที่มา: คิดค้นคว้า