ม.มหิดล – NECTEC – ม.นเรศวรร่วมส่งเสริม “เยาวชนไทยทรงดำ” สร้างสรรค์ “พิพิธภัณฑ์ดิจิทัล” เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด
หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของยุทธศาสตร์ความมั่นคงของมนุษย์พ.ศ.2556 – 2566 โดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คือ การขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดความมั่นคงของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งถือเป็นประชากรที่มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าประชาชนชาวไทยทุกประการ โดยฝากความหวังไว้ที่เยาวชนคนรุ่นหลังเพื่อสืบสานมรดกภาษาวัฒนธรรมและประเพณีแห่งชนชาติให้คงอยู่สืบไป
“ชาวไทยทรงดำ” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของไทยที่มีอัตลักษณ์อันโดดเด่นด้วยเครื่องแต่งกายที่มีสีน้ำเงินเข้มหรือสีดำตามชื่อเรียก แต่แฝงไว้ด้วยความหมายทางวัฒนธรรมที่ลุ่มลึกด้วยอุปนิสัยที่เรียบง่ายไม่โอ้อวดโดยสังเกตได้จากวิธีการติดดอกไม้แซมผมของหญิงชาวไทยทรงดำที่นิยมติดดอกไม้ไว้หลังมวยผม หรือการสวมใส่เสื้อฮี เพื่อเป็นการแสดงคติธรรมที่ให้ความสำคัญต่อความอ่อนน้อมถ่อมตน และความงามที่จิตใจมากกว่าความงามของเครื่องแต่งกาย
ชุมชนไทยทรงดำในอำเภอเขาย้อยจังหวัดเพชรบุรี ถือเป็นรกรากที่สำคัญของชาวไทยทรงดำที่พบว่ามีจำนวนประชากรหนาแน่นที่สุดในประเทศไทย โดยได้มีการนำการเรียนการสอนทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมทั้งภาษาและวัฒนธรรมไทยทรงดำมาใช้ในหลักสูตรของโรงเรียนวัดหนองปรง (บุญมานุสรณ์) ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำท้องถิ่นตลอดจนได้มีการรวบรวมนำเอาภูมิปัญญาต่างๆ ของชาวไทยทรงดำมาจัดแสดงใน “พิพิธภัณฑ์ปานถนอม” พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไทยทรงดำ ก่อตั้งโดยครูถนอม คงยิ้มละมัยที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง โดยได้มีการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม จนได้รับรางวัล Museum Thailand Award 2021 จาก สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ(มิวเซียมสยาม) ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านชุมชนและท้องถิ่น รางวัลดีเด่นด้านการอนุรักษ์ และสืบสาน และด้านความสัมพันธ์กับชุมชน เมื่อวันที่2 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้พิพิธภัณฑ์ปานถนอม สามารถคว้ารางวัลระดับประเทศนี้มาได้ก็คือความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มเด็กเยาวชนและชาวไทยทรงดำที่อยู่ในชุมชนหนองปรง อำเภอเขาย้อยจังหวัดเพชรบุรี โดยมี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และกองส่งเสริมศิลปวัฒนกรรมมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้การสนับสนุนด้านการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาทำให้เกิดการต่อยอดทางภูมิปัญญาที่ยั่งยืน จากการทำหน้าที่เสมือนเป็น “พี่เลี้ยง” ที่คอยส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนซึ่งเป็นลูกหลานไทยทรงดำในชุมชน ให้ได้เป็นกำลังสำคัญในการสืบสานองค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาภาษาวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุมิตรา สุรรัตน์เดชา อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดลถือเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการต่อเติมชีวิตให้กับพิพิธภัณฑ์ปานถนอม สู่โลกดิจิทัล ไปพร้อมๆ กับการสร้างเยาวชนไทยทรงดำในชุมชน ให้สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้ดูแลและสืบสานวัฒนธรรมของชุมชนได้ด้วยตัวเอง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.สุมิตรา สุรรัตน์เดชา ได้เป็นผู้นำเอา “นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม” ซึ่งเป็นคลังข้อมูลวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก NECTEC มาต่อยอดพิพิธภัณฑ์ปานถนอมให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ดิจิทัล” หรือแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ ที่มีเยาวชนไทยทรงดำในชุมชนเป็นAdmin หรือ ผู้ดูแลและบริหารจัดการด้วยตัวเอง โดยได้มีการจัดทำ QR Code ติดกำกับไว้ตามจุดต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ปานถนอม เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถเชื่อมต่อฐานข้อมูลที่สามารถแสดงภาพเคลื่อนไหวได้ถึง 360 องศาเพียงใช้โทรศัพท์มือถือสแกน
นอกจากนี้ ยังได้มีการฝึกทักษะผู้ประกอบการให้กับเยาวชนไทยทรงดำในชุมชนที่เข้ารับการอบรม เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนอกจากเพื่อการอนุรักษ์แล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน สิ่งที่ผู้เข้าชมไม่ควรพลาด ได้แก่ การสาธิตการปักลายผ้าไทยทรงดำ และการทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมแบบไทยทรงดำ ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงความงามทางวัฒนธรรมจากการทอผ้าอันเป็นอัตลักษณ์ของชาวไทยทรงดำแล้ว ยังได้มีการนำ “รังไหม” ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการทอผ้าดังกล่าว มาทำเป็น “สบู่รังไหม” ที่มีสรรพคุณบำรุงผิวพรรณ เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ต่อไปอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ปานถนอม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถติดตามได้ทางแพลตฟอร์มนวนุรักษ์ของ NECTEC: http://www.navanurak.in.th/paikalau/site/theme/index.php หรือ Facebook ของพิพิธภัณฑ์ปานถนอม นอกจากจะทำให้คนไทยได้รู้จักวัฒนธรรมของชาวชุมชนไทยทรงดำกันมากขึ้นแล้ว ยังเป็นช่องทางที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้โดยตรงจากปราชญ์ของชุมชนไทยทรงดำอีกด้วย
ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและการบริโภคที่เกินจำเป็นการสร้างเศรษฐกิจจากฐานรากแห่งภูมิปัญญา จะทำให้ชุมชนอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน และด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้เกิดการต่อยอดสู่โลกของการเรียนรู้ได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล